ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนเมษายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ก.อุตฯ ดึงสหพัฒน์ลงทุนฮาลาลดันไทยฮับ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 2 เมษายน 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับคณะผู้บริหารบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ และแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยประเด็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์นั้น ปัจจุบันรัฐบาลได้ชักชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ที่ยังมีปัญหาผังเมืองในบางจุด ซึ่งเรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปดูแลปัญหาผังเมืองในพื้นที่อีอีซี เพื่อดูว่ามีช่องทางไหนที่จะแก้ไขได้บ้าง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการ อะไรที่มีปัญหา ก็ให้บอกมา จะได้เข้าช่วยเหลืออำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งรัฐบาลเองมีนโยบายยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าการส่งออกไปยังพี่น้องชาวมุสลิมกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคภายในปี 2571 หรือ 5 ปี และยินดีร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีหน่วยงานที่ทำเรื่องฮาลาลกระจายอยู่หลายกระทรวง ทำให้ขาดแนวทางและความชัดเจน เนื่องจากต่างคนต่างทำ หากไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามากำกับดูแลก็อาจจะไม่สัมฤทธิผล จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีตั้งกรมฮาลาลได้มีมติเห็นชอบมาแล้ว แต่ในช่วงแรกจะให้คณะกรรมการฮาลาลแห่งชาติช่วยกำกับดูแลและบูรณาการไปก่อน เนื่องจากการจัดตั้งกรมฮาลาลต้องใช้เวลา

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. จีนปักหมุดลงทุน 'สมาร์ทปาร์ค' อีวี-พลังงาน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 3 เมษายน 2567)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) มีความก้าวหน้ากว่า 82.55% ณวันที่ 18 มีนาคม 2567 และมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนจากหลายประเทศ หลังจากที่ กนอ.โรดโชว์ โดยล่าสุดกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีนแสดงความสนใจที่จะเช่าที่ดินแปลงใหญ่เพื่อประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (นิว เอส-เคิร์ฟ) เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยในเบื้องต้นได้พูดคุยกับกลุ่มนักลงทุนชาวจีนที่สนใจจะลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และมอบหมายให้กองการตลาดของ กนอ. พานักลงทุนกลุ่มนี้ลงพื้นที่ไปดูพื้นที่จริงที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ซึ่งทางนักลงทุนชาวจีนได้ให้ความสนใจอย่างมากในการเช่าพื้นที่แบบเหมาแปลงทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะประชุมหารือร่วมกับ กนอ. ในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีพื้นที่โครงการ 1,383.71 ไร่ ซึ่งหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ และดำเนินโครงการ แล้วจะเกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพื้นที่ประมาณ 1,342 ล้านบาทต่อปี มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการส่งเสริมการให้เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 - 27 ธันวาคม 2567 ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี นับจากวันที่ทำสัญญาและยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 1 ปีแรกนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการ โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะเป็นไปตามที่ กนอ. กำหนด

 

นายจุฬา สุขมานพ

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

3. อีอีซีดึงมะกันดันเป้าไทยฮับการแพทย์ จ่อให้สิทธิประโยชน์จำเพาะกับกิจการ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 5 เมษายน 2567)

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมกับนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดงานสัมมนา U.S.-Thailand Healthcare Workshop: Collaborate on Advancing Healthcare Innovation in Thailand จัดโดย องค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐ (USTDA) ร่วมกับอีอีซี และหอการค้าอเมริกัน (AMCHAM) มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย ดึงดูดการลงทุนและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการวินิจฉัยและการรักษามาสู่การให้บริการอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขของประเทศ และผลักดันให้ไทยกลายเป็น ผู้นำด้านศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรของภูมิภาค ทั้งนี้ ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐ มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีสูงเป็นอันดับที่ 3 โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมในทุกอุตสาหกรรมสูงกว่า 44,000 ล้านบาท และมีบริษัทชั้นนำด้านการแพทย์และสุขภาพของสหรัฐที่ลงทุนในประเทศไทยและอีอีซี เช่น บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ออร์กานอน และแบกซ์เตอร์ เป็นต้น โดยอีอีซี ได้เตรียมการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนแบบจำเพาะกับกิจการที่สามารถยื่นขอกับอีอีซีได้โดยตรง พร้อมกับการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการประกอบกิจการผ่านสำนักงานอีอีซี แบบ One-stop service เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าจะได้รับบริการการลงทุนที่มีความสะดวกและรวดเร็ว สำหรับทุกการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

อย่างไรก็ตาม การสัมมนาจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ นกลงทุนด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และมูลค่าสูง จากทั้งในและต่างประเทศ ถึงโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับการขยายธุรกิจมาสู่พื้นที่ใหม่ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และประเทศไทยมีความจริงจังและพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพโดยเฉพาะ ในพื้นที่อีอีซี

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red blue and black circle

Description automatically generated

 

4. ดัชนี PMI ภาคการผลิตเกาหลีใต้หดตัวในเดือนมี.ค. เหตุอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 เมษายน 2567)

เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า กิจกรรมภาคการผลิตของเกาหลีใต้อ่อนแอลงในเดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลงได้หักล้างยอดส่งออกที่แข็งแกร่ง โดยรายงานระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายในเกาหลีใต้ปรับตัวสู่ระดับ 49.8 ในเดือนมีนาคม 2567 เมื่อปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว ซึ่งลดลงจากระดับ 50.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ต่ำกว่าระดับ 50 ดังกล่าวบ่งชี้ว่ากิจกรรมธุรกิจภาคการผลิตหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนโดยดัชนีย่อยสำหรับผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ลดลงสู่ระดับ 49.8 และ 49.9 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายอุซามะห์ ภัฏติ นักเศรษฐศาสตร์จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ตอินเทลลิเจนซ์กล่าวว่า ข้อมูล PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม 2567 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของเกาหลีใต้ทรุดตัวลงอีกครั้งในด้านสภาวะการดำเนินงาน โดยทั้งปริมาณผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ต่างก็ปรับตัวลดลง โดยบริษัทต่างๆ ระบุว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาได้ฉุดรั้งการผลิตและยอดขาย ทั้งนี้ ในด้านปัจจัยบวกคืออุปสงค์การส่งออกที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในอัตราที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)