ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a pink dress

Description automatically generated

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

1. "อีวี" ไม่ใช่ต้นเหตุยอดขายรถวูบ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2567)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่ายังไม่ได้มีนัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในประเทศที่ลดลง โดยสะท้อนตัวเลขการผลิตรถยนต์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผลิตเพื่อขายในประเทศอยู่ที่ 46,928 คัน ลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นกลุ่มรถยนต์นั่งที่ขายในประเทศที่ 24,308 คัน ลดลง 9.6% ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุทั้งการนำเข้าอีวีจากจีนและสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มรถกระบะผลิตเพื่อขายในประเทศ 18,987 คัน ลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีอีวีมาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มรถกระบะไม่เกี่ยวข้องกับอีวีที่ยอดขายลดลง เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อจากเดิมอัตราการปล่อยกู้ 70-80% ของยอดคำขอกู้ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 30% รวมทั้งปริมาณการยึดรถกระบะจากผู้ซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2566 จนถึงขณะนี้มียอดยึดคืน 300,000 คัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มาจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงทำให้การซื้อรถกระบะใหม่ลดลง

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.อัดโปรดึงนักลงทุน ดันยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯทะลุ 3,946 ไร่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 เมษายน 2567)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567) กนอ. มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3,946 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก (EEC) 3,472 ไร่ นอกพื้นที่ EEC 474 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 158,372 ล้านบาท เกินเป้าหมายของปีงบประมาณ 2567 ที่ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าตลอดทั้งปีไว้ที่ 3,000 ไร่แล้ว เบื้องต้นอาจต้องปรับเป้าใหม่เป็น  4,500 ไร่ แต่ต้องขอดูผลกระทบจากสถานการณ์ของสงคราม และภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วง 6 เดือนหลังด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม กนอ. จึงจัดทำโปรโมชั่นกระตุ้นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึง 27 ธันวาคม 2567 ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ปีแรก เงื่อนไข คือ ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึง 27 ธันวาคม 2567 วางหลักประกันการเช่าที่ดินเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันเต็มจำนวน มูลค่าสองเท่าของค่าเช่ารายปี ห้ามให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิการเช่าที่ดินบางส่วนหรือทั้งหมดภายใน 2 ปี แจ้งเริ่มประกอบกิจการภายใน 3 ปี มีระยะเวลาการเช่าที่ดินไม่น้อยกว่า 10 ปี เงื่อนไขเป็นไปตามที่ กนอ. กำหนด

อย่างไรก็ตาม ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนของ Rubber City ระยะเวลาจัดโปรโมชั่นระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึง 30 กันยายน 2567 โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งผู้ประกอบกิจการใหม่ และผู้ประกอบการเดิมซึ่งผู้ประกอบกิจการใหม่ จะได้รับส่วนลด 3% จากราคาขายที่ดิน ขณะที่ผู้ประกอบกิจการเดิม จะได้รับส่วนลด 5% จากราคาขายที่ดินเงื่อนไข คือ ทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อประกอบกิจการ ชำระค่ามัดจำไม่น้อยกว่า15% ของมูลค่าที่ดิน แจ้งเริ่มประกอบกิจการภายใน 3 ปี ห้ามขายหรือโอนที่ดินภายใน 9 ปี เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. กรณีไม่ปฏิบัติตาม กนอ. มีสิทธิ์ยกเลิกมาตรการ ยึดเงินมัดจำ และเรียกร้องค่าเสียหายได้

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอไฟเขียว Chery ตั้งฐานผลิตรถไฟฟ้าในไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 เมษายน 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลจากความพยายามในการดึงการลงทุนจากบริษัท Chery Automobile ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้ประสบความสำเร็จตามแผนที่หารือกัน โดยบริษัท Chery ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ ของจีนและเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลก ที่มียอดการส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง 21 ปี โดยในปี 2566 Chery มียอดส่งออกกว่า 1.8 ล้านคัน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โครงการนี้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยแผนการลงทุนของบริษัท Chery Automobile ในประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท "โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย)" ซึ่ง OMODA และ JAECOO เป็นแบรนด์ของ Chery สำหรับทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง ในเฟสแรก ภายในปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละประมาณ 50,000 คัน และเฟสที่ 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน ช่วงเริ่มแรก บริษัทจะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก OMODA C5 EV ซึ่งเป็นรถยนต์ครอสโอเวอร์ เอสยูวี ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% มาจำหน่ายเพื่อทดลองตลาด ตามมาด้วยรถยนต์พรีเมียม เอสยูวี ออฟโรดรุ่น JAECOO 6 EV, JAECOO 7 PHEV และ JAECOO 8 PHEV พร้อมเปิดโชว์รูม 39 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งการตัดสินใจลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในไทยของ Chery ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของประเทศไทยก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว 7 ราย ประกอบด้วย BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA และ Foton กรณีของ Chery เป็นรายที่ 8 ช่วยตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนว่า กลุ่มบริษัทรถยนต์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา แสดงถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายฉี เจี๋ย ประธาน บริษัท Chery Automobile กล่าวว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาคและกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเรามองเห็นโอกาสการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่ของรัฐบาลไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ โอโมดา แอนด์ เจคู โดยบริษัทมุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ให้ตอบโจทย์ กับไลฟ์สไตล์คนไทยให้มากที่สุด และมีความตั้งใจ ที่เลือกใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทย ซึ่งในอนาคตจะทำ Sourcing ชิ้นส่วนจากในประเทศด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

 

A close up of a flag

Description automatically generated

4. มาเลเซียผุดแผนดึง 'ยูนิคอร์น' ลงทุนฮับฟินเทคภูมิภาค (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 25 เมษายน 2567)

นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดตัวแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนของบริษัทระดับยูนิคอร์น รวมถึงบริษัทสตาร์ตอัปและบริษัทร่วมลงทุน (วีซี) ชั้นนำของโลกเข้ามาในประเทศ โดยหวังว่าจะสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัปที่แข็งแกร่งซึ่งจะกระตุ้นการเติบโตในอนาคตด้วยนักลงทุนที่เหมาะสมและบุคลากรที่มีความสามารถในมาเลเซีย รัฐบาลจะทำให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก สำหรับบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่าตลาดในหลักพันล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะอยู่ภายใต้โครงการยูนิคอร์นโกลเดนพาส (Unicorn Golden Pass) ซึ่งรัฐบาลต้องการดึงดูดบริษัทระดับยูนิคอร์นทั่วโลกให้เข้ามาในมาเลเซียเพื่อสร้างงานที่มีทักษะสูงและมีมูลค่าสูง นอกเหนือจากการพัฒนากองทัพของผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้นำอาวุโสในด้านเทคโนโลยี ซึ่งโครงการยูนิคอร์นโกลเดนพาสมีสิทธิประโยชน์มากมาย รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุมัติทำงานของฝ่ายบริหารระดับสูง อุดหนุนค่าเช่าที่ และลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มาเลเซียเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับ สตาร์ตอัปทั่วโลกและระดับภูมิภาคที่ต้องการสร้างฐานการผลิตของตัวเอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เปิดตัวโครงการ วีซี โกลเดน พาส (VC Golden Pass) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่บริษัทร่วมลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทำงานสำหรับ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท และการอนุมัติใบอนุญาตการจัดตั้งกองทุนในประเทศอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียยังมีแผนที่จะสร้าง "สวนอุตสาหกรรมออกแบบแผงวงจรรวม" ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการยกเว้นภาษี สนับสนุนเงินอุดหนุน และค่าธรรมเนียมการยกเว้นวีซ่า เพื่อดึงดูดเหล่าบริษัทเทคโนโลยี และนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน ทั้งนี้ มาเลเซียตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศให้กลายเป็น "ศูนย์กลางดิจิทัลระดับภูมิภาค" โดยมีเป้าหมายที่จะติดอันดับ 20 ประเทศแรกในดัชนีระบบนิเวศสตาร์ตอัปทั่วโลกภายใน ปี 2573 โดยปัจจุบัน มาเลเซียถือเป็นผู้เล่นสำคัญ ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของการทดสอบ และการบรรจุภัณฑ์ชิปทั่วโลก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)