ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. "พิมพ์ภัทรา" ดันซอฟต์พาวเวอร์ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพิ่มเติมด้านการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) อีกจำนวน 6 มอก. ได้แก่ 1. มอก.การเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ 2. มอก.การดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด 3. มอก.โรงแรมย้อนยุค 4. มอก.ร้านอาหารแบบดั้งเดิม 5. มอก.การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และ 6. มอก.การบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ พร้อมทั้งทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ที่เชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power จำนวน 10 มอก. เช่น ข้าวเกรียบกรือโป๊ะ สุรากลั่นชุมชน ไวน์ผลไม้ เป็นต้น และได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฮาลาล จำนวน 3 มอก. คือ 1. แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด 2. เส้นหมี่ 3. โยเกิร์ตกรอบ สำหรับผลการดำเนินงานของ สมอ. ในรอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) สมอ.ได้เน้นในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ มอก. สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นวงกว้าง ซึ่งได้ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของสมอ.จำนวน 144 รายการ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบและตรวจติดตามการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยตรวจจับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายลักลอบผลิตและนำเข้าสินค้าไม่ได้ มอก. 191 ราย ยึดอายัดสินค้าเป็นมูลค่ากว่า 220 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 87.70 ล้านบาท 2. ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 73.23 ล้านบาท 3. ยานยนต์ 54.09 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันในการกำหนดมาตรฐาน สมอ.ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 รวม 1,000 เรื่อง โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567 สามารถกำหนด มอก.ได้ รวม 469 เรื่อง เช่น เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ฝารองนั่งสุขภัณฑ์ไฟฟ้า หลอดฟลูออเรสเซนต์สำหรับเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน และมาตรฐานวิธีทดสอบยานยนต์ (อีวี) เป็นต้น และได้ประกาศให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 24 ผลิตภัณฑ์ เช่น บันไดเลื่อน ลิฟต์ คาร์ซีต แบตเตอรี่อีวี ภาชนะพลาสติก และภาชนะสเตนเลส เป็นต้น

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ภาคเอกชนหั่นเป้า GDP เหตุการณ์ส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่เติบโตได้จำกัด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของสงคราม โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 35 ล้านคน ตามที่คาดไว้เดิมเนื่องจากนักท่องเที่ยวจากเอเชียมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.2-2.7% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเมื่อเดือนเมษายน ที่ประมาณการไว้ที่ 2.8-3.3% เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน ซึ่งเดิมประมาณการไว้ที่ 2-3% ตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้วปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้าได้แก่ 1. ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ 2. การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5-1% จากเดิมประมาณการไว้ที่ 0.7-1.2%

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. มีความเห็นต่อประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ว่าการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

A person in a suit smiling

Description automatically generated

นายสุรพงษ์ ไพรสิฐพัฒนพงษ์

โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ยานยนต์วอนรัฐหันมาเหลียวแลบ้าง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2567)

นายสุรพงษ์ ไพรสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มยานยนต์ตลอดทั้งปีนี้คาดว่ายอดการปฏิเสธสินเชื่อรถกระบะของประเทศไทยจะใกล้เคียงระดับเดียวกับปี 2566 ประมาณ 30-40% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยผลดังกล่าวทำให้ยอดจำหน่ายลดลงตาม ดังนั้นหากเป็นไปได้ต้องการให้รัฐบาลได้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเกี่ยวข้องอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Supply Chain) จำนวนมาก เช่นเดียวกับภาคอสังหาฯ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก หนัง กระจก ปิโตรเคมี ยางล้อ ชิ้นส่วน เป็นต้น นอกจากนี้ กรณีที่สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ เพื่อรถยนต์ยังมีความกังวลเรื่องหนี้เสีย (NPL) จึงเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเดิม ปีนี้คิดว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อรถกระบะจะอยู่ในระดับ 10% แต่ขณะนี้ยอดปฏิเสธยังคงสูงต่อเนื่องและใกล้เคียงกับปีก่อน รวมๆ กันจึงทำให้กระบะที่เคยยอดขายนำรถยนต์นั่งก็กลายเป็นลดลง และที่สำคัญประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะเพื่อการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 55% ของยอดการผลิตรวมจึงอยากให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาครถยนต์เช่นเดียวกับอสังหาฯ

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์คาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยเร็วหลังจากที่ล่าช้าที่ปกติต้องเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีตามปฏิทินงบประมาณหรือล่าช้าออกไปถึง 6 เดือน เนื่องจากมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่และรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่องเที่ยวการลงทุนเพื่อให้คนไทยมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้นและต่อเนื่องในการเบิกงบประมาณปี 2568 ต่อเนื่องในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังทยอยฟื้นตัวก็จะทำให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมามี 56,099 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 29.83% โดยเฉพาะรถกระบะยอดขายเดือนมีนาคมมีจำนวน 16,212 คันลดลงถึง 45.27%

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. PMI ภาคบริการจีนขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 16 หนุนความหวังศก.ฟื้นตัวยั่งยืน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2567)

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนชะลอตัวลงในเดือนเมษายน 2567 ท่ามกลางต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น โดยยอดสั่งซื้อใหม่ในภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้ตลาดมีความหวังมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเมษายน 2567 ชะลอตัวลงสู่ระดับ 52.5 จากระดับ 52.7 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการมีการขยายตัว และนับเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกันที่ดัชนีอยู่เหนือระดับดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานของไฉซินยังระบุด้วยว่า ธุรกิจใหม่โดยรวมพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ขณะที่อุปสงค์ในต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวมีการขยายตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยหนุนยอดสั่งซื้อใหม่ในภาคบริการพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน และยังช่วยให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบรรดาผู้ประกอบการในภาคบริการของจีนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีนี้ด้วย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)