ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ก.อุตฯ ยกเครื่องระบบ แก้ปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2567)

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเริ่มฟื้นตัว แต่การค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่านที่ยกระดับขึ้นส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทย โดยปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้สาธารณะของทั่วโลก สถานการณ์ด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้การบริหารอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ทั้งในด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมของประเทศที่เริ่มแข่งขันได้ยากขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมด้านภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมต่อประชาชน สำหรับประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ "อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน" โดยรองรับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละพื้นที่ผ่านการเติบโตอย่างยั่งยืนใน 4 มิติ คือ ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพิ่มโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งนี้ กระทรวงได้ปรับแนวคิดและการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสตอบสนอง และเป็นมืออาชีพ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยการทำงานดีด้วย "หัว" และ "ใจ" ของคนกระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันนโยบายและการดำเนินงานอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การส่งเสริมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การกำกับดูแลการประกอบการให้เป็นไปตามกฎหมาย กลไกของมาตรฐาน กองทุนและเงินทุน สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายสถานประกอบการ และการบูรณาการการทำงานของกระทรวงกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั้ง 76 จังหวัด ศึกษาและเข้าใจเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์การลงทุนของภาคอุตสาหกรรม พร้อมผลักดันให้เศรษฐกิจในพื้นที่สามารถเติบโตครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน โดยนำระบบดิจิทัลมาเชื่อมโยงในการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการเพื่อก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) อาทิ การรายงานข้อมูลผ่านระบบ i-single form การตรวจกำกับโรงงานด้วยระบบ i-Auditor ซึ่งสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดแนวทางนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนผู้ประกอบการได้ในอนาคต

 

A person in a blue shirt

Description automatically generated

นายภาสกร ชัยรัตน์

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

2. "ดีพร้อม" นำนักธุรกิจบุกญี่ปุ่นฝันลงทุนเพิ่ม 2.8 พันล้านบาท (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2567)

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยหลังนำคณะผู้ประกอบการ เดินทางเยือนญี่ปุ่น เพื่อร่วมออกงานแสดงสินค้านวัตกรรมโลจิสติกส์สมัยใหม่ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจผ่านศูนย์วิจัยการไหลของวัสดุของญี่ปุ่น (JMFI) พร้อมยกระดับเจรจาจับคู่ธุรกิจและศึกษาต้นแบบสถานประกอบการภาคเอกชนของญี่ปุ่น ด้วยการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (เอไอ) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและได้เข้าพบกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) องค์กรส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ คาดว่าการเยือนในครั้งนี้จะเกิดการลงทุนและความร่วมมือระหว่างกัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 2,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านวัตกรรมโลจิสติกส์สมัยใหม่มีผู้ประกอบการประเทศต่างๆ 200 บูธ เช่นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งคลังสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกันกับญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอาเซียน ซึ่งได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน 4 กิจการ อาทิ บริษัท ปลาวาฬ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อขยายตลาดผู้ประกอบการไทยสู่สากล และได้เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับฝ่ายไทย 150 คู่ค้า

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

 

3. 'ยอดขาย-ส่งออก' รถร่วง ฉุดตัวเลขการผลิต 4 เดือน วูบ 17.05% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2567)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการผลิตรถยนต์ ในเดือนเมษายน 2567 มีจำนวนรถยนต์ทั้งหมด 104,667 คัน ลดลงจากปีก่อน 11.02% และลดลงจากเดือนมีนาคม 2567 24.34% จากการผลิตรถยนต์นั่งลดลง 5.03% และรถกระบะเพื่อขายในประเทศที่ลดลง 45.94% ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบมาหลายเดือนทำให้กำลังซื้อยังเปราะบาง ส่วนภาพรวมรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม - เมษายน) มีจำนวน ทั้งสิ้น 518,790 คัน ลดลงจากปีก่อน 17.05% โดยรถยนต์นั่ง ผลิตได้ 38,190 คัน ลดลง 5.39% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง Internal Combustion Engine มีจำนวน 23,568 คัน ลดลง 28.84% ด้านรถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ทั้งสิ้น 316,002 คัน เท่ากับ 60.91% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 20.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (มี.ค. 2566) สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์เดือนเมษายน 2567 ผลิตได้ 71,928 คัน เท่ากับ 68.72% ของยอดการผลิตทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากเมษายนปีก่อน 5.92% ส่วนเดือนมกราคม - เมษายน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 345,608 คัน ลดลง 2.93% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนเมษายน 2567 ผลิตได้ 32,739 คัน เท่ากับ 31.28% ของยอดการผลิต ทั้งหมด ลดลง 34.17% และเดือนมกราคม - เมษายน ผลิตได้ 173,182 คัน เท่ากับ 33.38% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 35.71% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 46,738 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 16.69% และลดลงจาก เดือนเดียวกันในปีก่อน 21.49% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ เติบโตในระดับต่ำจากความล่าช้าของงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การใช้จ่ายการลงทุนของรัฐบาลลดลงมากจนทำให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง ด้านการส่งออก รถยนต์สำเร็จรูปเดือนเมษายน 2567 ส่งออกได้ 70,160 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 26.22% และลดลงจากเดือนเมษายน 2566 ที่ 12.23% เพราะผลิตเพื่อส่งออกได้น้อยจากจำนวนวันทำงานน้อยในเดือนเมษายน

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white cloth

Description automatically generated

 

4. PMI ภาคการผลิตญี่ปุ่นขยายตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี ในเดือนพ.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2567)

ผลสำรวจธุรกิจ แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นพลิกกลับสู่ภาวะขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีในเดือนพฤษภาคม 2567 เนื่องจากการผลิตเริ่มกระเตื้องขึ้นหลังตกอยู่ภายใต้ภาวะอ่อนแอติดต่อกันหลายเดือน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (PMI) ขั้นต้นของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 จาก 49.6 ในเดือนเมษายน ซึ่งทะลุระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนตัวเลขต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ การขยายตัวในกิจกรรมธุรกิจยังคง นำโดยภาคบริการ แต่ผลผลิตภาคการผลิตที่อยู่ใกล้ระดับเสถียรภาพได้สร้างความหวังว่าการเติบโตจะขยายวงกว้างมากขึ้นในช่วงต่อไปของปีนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงสู่ระดับ 53.6 ในเดือนพฤษภาคม 2567 จากตัวเลขขั้นสุดท้ายเดือนเมษายนที่ 54.3 ทั้งนี้ ด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้น ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 52.4 ในเดือนพฤษภาคม 2567 จาก 52.3 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)