ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 5 ของเดือนพฤษภาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

 

1. สมอ.คุมเข้มถุงพลาสติกฯ หวั่นโลหะหนักปนเปื้อนอาหาร (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2567)

 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2567 มีมติเห็นชอบมาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหารและถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ โดยเป็นการยกเลิกมาตรฐานฉบับเดิม และกำหนดใหม่ เพื่อให้มีความปลอดภัยกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เพราะเป็นสินค้าที่ประชาชนนิยมใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่มอย่างแพร่หลาย หากผลิตไม่ได้มาตรฐาน เมื่อนำไปใส่อาหารที่มีความร้อนสูง หรืออาหารที่มีความเป็นกรด อาจเสี่ยงจะมีสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนออกมากับอาหารได้ อีกทั้งได้กำชับให้สมอ. เร่งควบคุมสินค้าที่สัมผัสกับอาหารโดยตรงอื่นๆ เช่น ภาชนะพลาสติกใส่อาหาร กระดาษสัมผัสอาหาร และภาชนะสเตนเลสสำหรับอาหาร เป็นต้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การประชุมบอร์ดสมอ.ครั้งนี้ นอกจากจะมีมติเห็นชอบมาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟแล้ว ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีก 97 มาตรฐาน เช่น โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน เก้าอี้พลาสติกแบบมีพนักพิง ไม้ยางพาราแปรรูปบานประตูแผ่นไม้ประกอบ อนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดมะขามป้อม และอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดกวาวเครือขาว เป็นต้น รวมทั้งเห็นชอบมาตรฐานที่จะกำหนดอีก 90 มาตรฐาน เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องทำน้ำร้อนระบบก๊าช เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกายข้อเข่าเทียม เครื่องมือรักษารากฟัน ที่นอนลดแผลกดทับเลนส์ตาเทียม สารน้ำฟอกไต เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ยางล้อรถยนต์ ลวดเหล็กเคลือบสังกะสี เม็ดพลาสติก และล้ออัลลอย เป็นต้น ซึ่งจัดทำโดย สมอ. และองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) ที่เป็นสถาบันเครือข่ายของ สมอ. ได้แก่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันพลาสติก

 

A person sitting at a desk with a microphone

Description automatically generated

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

2. สศอ.หั่นเป้า MPI เหลือแค่ 0-1% แม้เม.ย.พลิกบวกหลังหดตัว 18 เดือน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2567)

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัว 3.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55.26% สาเหตุหลักมาจากการส่งออกกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และฐานต่ำในปีก่อน สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกปี 2567เฉลี่ยอยู่ที่ 98.28 หดตัวเฉลี่ย 2.06% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.13% เนื่องจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศและปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยที่กดดันให้ MPI หดตัวส่งผลให้ สศอ.ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2567 อยู่ที่ขยายตัว 0-1% ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมปี 2567 คาดขยายตัว0.5-1.5% จากประมาณการครั้งก่อนคาดว่าจะขยายตัว 2-3%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤษภาคม 2567 "ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น" โดยปัจจัยภายในประเทศฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นทางธุรกิจ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น จากการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และผลผลิตในสหภาพยุโรป รวมทั้งภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัว 24.19% ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัว 4.78% อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัว 18.11% ขณะที่ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนเมษายน 2567 ได้แก่ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัว 17.16% ยานยนต์หดตัว 6.82% คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัว 7.39%

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated

นายสนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการหอการค้าไทย

 

3. คาดส่งออกอาหารโต 2% หวัง THAIFEX สร้างโอกาส SME ไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2567)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การจัดงาน THAIFEXANUGA ASIA 2024 ถือเป็นงานแสดงสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่จะได้ขยายตลาดในเวทีระดับโลก ตลอดจนเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีไอเดียได้นำเสนอนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงร่วมเจรจากับผู้ซื้อและผู้ขายทั่วโลก โดยหอการค้าฯ มองว่าจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนภาคการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวได้ถึง 2% คิดเป็น มูลค่าประมาณ 40,690.75 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายใต้ความต้องการสินค้าอาหาร ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดโลกได้ต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ขยับขึ้นจากอันดับที่ 15 ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าไทยมีขีดความสามารถในด้านนี้ ดังนั้น THAIFEX จะเป็นอีกหนึ่งอีเว้นท์ระดับโลกที่ช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไปสู่การเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าวันนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนออกมาในไตรมาส 1/67 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 1.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อและการใช้จ่ายภายในประเทศยังไม่กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม แต่หอการค้าฯ ยังเชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาล และภาคเอกชน จะสามารถช่วยกันผลักดันมาตรการและอีเว้นท์สำคัญๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น เช่นเดียวกับการจัดงาน THAIFEX ในปีนี้ และอีกหลากหลายอีเว้นท์ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี จะมีช่วยสร้างบรรยากาศความคึกคักของเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายอยากเห็นต่อไป

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. จีนเผยกำไรภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 4% ในเดือนเม.ย. หลังการส่งออกฟื้นตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2567)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทในภาค อุตสาหกรรมจีนปรับตัวขึ้น 4% ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ กำไรปรับตัวขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยข้อมูลดังกล่าวได้จากการสำรวจบริษัทอุตสาหกรรมที่มีรายได้จากธุรกิจหลักต่อปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (2.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทังนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การปรับตัวขึ้นของกำไรภาคอุตสาหกรรมอาจช่วยให้รัฐบาลจีนคลายความวิตกกังวล เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอาจเป็นปัจจัยหนุนเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ประมาณ 5% ในปีนี้ โดยยอดส่งออกของจีนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในเดือนเมษายน หลังจากที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปสงค์สินค้าจีนในต่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกในเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสอดคล้องกับ ที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ ส่วนในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ยอดส่งออกของจีนร่วงลง 7.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)