ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. สมอ.ติวเข้มผู้ประกอบการ เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน-ภาชนะสเตนเลส (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน เช่น หม้อหุงข้าว หม้อต้มไฟฟ้า และกระติกน้ำร้อน เป็นต้น และภาชนะสเตนเลส 7 รายการ ได้แก่ หม้อ กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต เป็นสินค้าควบคุมนั้น ตนได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งดำเนินการให้มาตรฐานมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สมอ. ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,300 ราย เตรียมความพร้อมในการยื่นขออนุญาต ก่อนที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2567 นี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมอ. ได้จัดการสัมมนาขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐาน ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดในมาตรฐานและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานดังกล่าว ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมถึงการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาตด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ทำและนำเข้าสินค้าดังกล่าวทั้ง 2 รายการ กว่า 1,300 ราย และหลังจากที่มาตรฐานดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า โดย สมอ. ได้เตรียมการเพื่อรองรับการยื่นขออนุญาตจากผู้ประกอบการ สามารถยื่นขอผ่านระบบ E-License ได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. สภาอุตฯ ลุยผ่าตัดใหญ่ภาคผลิตไทย ดันอุตสาหกรรมสีเขียว ลดโรงงานปิดตัว (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การปิดตัวของโรงงานผลิตสินค้าของไทยมีแนวโน้มจะทยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของ ส.อ.ท. ใน 46 กลุ่มสินค้า ส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ในลักษณะรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เริ่มเป็นสินค้าล้าสมัย ที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการแข่งขันทาง ส.อ.ท. โดยคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ (วาระปี 2567-2569) ได้เร่งปรับโครงสร้างการผลิตของไทย โดยผลักดันให้สมาชิกมุ่งสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ๆ ของโลกเพื่อความยั่งยืน โดยใช้พลังงานสะอาด เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นอุตสาหกรรมตาม BCG Model (Bio-Circular-Green) และเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยลดโลกร้อน ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยให้สามารถขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปีในอนาคต ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ ยังอยู่ระหว่างการผลักดันสมาชิก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม สู่สมาร์ทเอสเอ็มอีใน 4Go คือ Go Digital & AI, Go Innovation, Go Global และ Go Green โดยทั้งหมดนี้จะเร่งให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในช่วง 2 ปีนับจากนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการปิดตัวของโรงงาน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และมูลค่าการส่งออกใหม่ให้กับประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่น่าห่วงและเสี่ยงกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาทิ การใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยยังชะลอตัวติดต่อกันมาถึง 18 เดือน ตัวเลขล่าสุดในเดือนเมษายน 2567 อัตราการใช้กำลังผลิตในภาพรวมเฉลี่ยที่ 55% จากตลาดในประเทศต้องแข่งขันรุนแรงกับสินค้าจีนที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในราคาต่ำ ส่วนตลาดส่งออกต้องแข่งขันรุนแรงเช่นกัน กับสินค้าจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย จากเป็นสินค้าที่ผลิตคล้ายๆ กัน แต่สินค้าไทยเสียเปรียบต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า จากต้นทุนพลังงาน และค่าจ้างแรงงาน ทำให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโรงงานผลิตสินค้าของไทยปิดตัวไปแล้วมากกว่า 3,500 โรงงาน

 

A person in a suit

Description automatically generated

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯวูบ เหตุต้นทุนพุ่ง-ยอดขายลด-กำลังแผ่ว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2567)

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 ว่า อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวมยอด คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาค อุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ตลอดจนผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยและอาเซียนมากขึ้น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร โดยในเดือนพฤษภาคมยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รวมทั้งการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหารในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยนอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-37 บาท                     ต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวลดลง จาก 98.3 ในเดือนเมษายน 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหา Geopolitics ในตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ปี 2567 ภายหลังจาก พ.ร.บ.ประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ และมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนการสนับสนุนให้อบรมสัมมนาจังหวัดเมืองรอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโลว์ซีซั่น

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. จีนเผยยอดค้าปลีกเดือนพ.ค.สูงกว่าคาด แต่การผลิตอุตสาหกรรม-การลงทุนต่ำกว่าคาด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2567)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนเมษายน ที่เพิ่มขึ้น 6.7% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันให้ทางการจีนต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกันในแต่ละภาคส่วน ทั้งนี้ ทางด้านยอดค้าปลีก ซึ่งเป็นมาตรวัดการอุปโภคบริโภค ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนพฤษภาคม  ซึ่งดีกว่าในเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 2.3% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันหยุด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนปรับตัวขึ้น 4% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.2% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - เมษายน)

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)