ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมิถุนายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. อุตฯ ยืนยันโรงงานเปิดใหม่พุ่ง มูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.49 แสนล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบัน ว่า จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า ภาพรวมปี 2567 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567 มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน ซึ่งจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดถึง 74% เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนจากการเลิกประกอบกิจการ พบว่า มีจำนวน 14,042 ล้านบาท ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีเงินลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท ซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า ในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงาน 33,787 คนซึ่งมีความต้องการแรงงานมากกว่า 21,236 คน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีกกว่า 126 โรงงานเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,989 คน ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์สาเหตุการปิดกิจการโรงงาน ในปี 2567 พบว่า มาจากสาเหตุมีคำสั่งซื้อที่ลดลงเพราะสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไปมีการแข่งขันด้านราคาและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกก็ลดลงด้วย เพราะราคาสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศอื่น แต่ก็ยังมีบางโรงงานที่ปิดกิจการเดิมและเปิดกิจการใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ นอกจากนี้มีนักลงทุนบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มากขึ้นด้วย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนเลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2,297 ล้านบาท (เช่น PCB) 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 1,456 ล้านบาท (โครงสร้างเหล็ก) และ 3. กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 930 ล้านบาท (เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก) ซึ่งในกลุ่มโรงงานเปิดใหม่ที่มีเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 29,644 ล้านบาท (เช่น อาหารสัตว์สำเร็จรูป) 2. กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 18,474 ล้านบาท (เช่น ปุ๋ยเคมี) และ 3. กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 12,378 ล้านบาท (เช่น PCB)

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการช่วยเหลือแบ่งออกเป็น มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น ประกอบด้วย 1. เข้มงวดเรื่องการตรวจสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน 2. พัฒนาสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิต 3. กระตุ้นตลาดในประเทศ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ 4. สนับสนุนเงินทุน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม ส่วนมาตรการระยะยาว เป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ 1. ปรับอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ต้องการของโลก (S-Curve) มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี 2. สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่โลกต้องการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมบริการตามเทรนด์โลก 3. พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย 4. Green Productivity เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับความยั่งยืน และ 5. ส่งเสริมการลงทุน

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

2. "บีโอไอ" จัดใหญ่กล่อมทัพลงทุนญี่ปุ่น (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ร่วมกับคณะผู้แทนการค้าไทย จัดงานใหญ่ "Thailand-Japan Investment Forum 2024" ร่วมกับธนาคาร MUFG ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว และนครโอซากา โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงาน 400 ราย จากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพ และกลุ่มการเงินการธนาคาร และยังได้จัดประชุมเจาะลึกรายอุตสาหกรรมและกิจกรรมให้คำปรึกษารายบริษัท (BOI Clinic) รวมทั้งการพบหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยนายนฤตม์ ได้กล่าวปาฐกถา หัวข้อ "Thailand's New Investment Incentivesand Business Opportunities for Japanese Investors" ว่า ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทยมานานหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย 6,000 บริษัท มากที่สุดในอาเซียน ในช่วงเวลาที่โลกเผชิญความท้าทายใหญ่ๆไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจที่นำไปสู่สงครามการค้าและวิกฤติโลกร้อนที่ทำให้ทุกฝ่ายมุ่งสู่การลดคาร์บอน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่นและเหมาะสมกับญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม บีโอไอจะดูแลและสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เติบโตและขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง หรืออุตสาหกรรมใหม่ๆที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอน ดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล และอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งการดึงบริษัทญี่ปุ่นรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุน นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนาและสำนักงานภูมิภาคอีกด้วย

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท.จ่อหั่นเป้ายอดผลิตรถยนต์ทั้งปี (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2567)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือนกรกฎาคม 2567 กลุ่มยานยนต์จะประชุมหารือเพื่อพิจารณาปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ใหม่ คาดว่าจะมีการปรับเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลง 50,000 คัน เหลือ 700,000 คัน จากเป้าหมายเดิม 750,000 คัน ขณะที่เป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกยังคงอยู่ที่ 1.15 ล้านคัน ทำให้เป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปี 2567 จะเหลือ 1.85 ล้านคัน ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 1.9 ล้านคัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังเปราะบาง และกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ลดลงติดต่อกันมากกว่า 10 เดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลง และมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะความไม่แน่นอนเรื่อง รายได้ รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะดีขึ้น จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภา สามารถเบิกจ่ายหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ แต่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 3% หรือไม่ ยังน่ากังวล ถ้ายอดผลิตและยอดขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดผลิตรถยนต์เดือนพฤษภาคม 2567 ผลิตได้ 126,161 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.19% ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อมเต็มที่ ทั้งนี้ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 49,871 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.38% เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลง

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนพ.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2567)

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยได้แรงหนุนจากการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลระบุว่า ดัชนีการผลิตของโรงงานและเหมืองแร่อยู่ที่ระดับ 103.6 เมื่อเทียบกับฐานปี 2563 ที่ระดับ 100 หลังจากที่ลดลง 0.9 % ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังคงมีมุมมองเช่นเดียวกับในเดือนเมษายน โดยระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมแสดงสัญญาณอ่อนแอลงและมีความผันผวนอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งผลการสำรวจภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม 15 ภาคส่วนบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรม 13 ภาคส่วนมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรม 2 ภาคส่วนมีผลผลิตลดลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนีการจัดส่งภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3.5% แตะที่ 103.5 ขณะที่ดัชนีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 103.5 ทั้งนี้ ทางด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กระทรวงฯ คาดการณ์โดยอิงจากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ผลิตว่า ผลผลิตจะลดลง 4.8% ในเดือนมิถุนายน 2567 แต่จะเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนมิถุนายน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)