ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนกรกฎาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ยกเครื่องเอสเอ็มอีปรับตัวรับกติกาใหม่ของโลก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสก็อตต์ มอร์ริส รองประธานฝ่ายกำกับดูแล กิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) พร้อมคณะ ได้เข้าพบเพื่อหารือ เกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง ADB กับประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกติกาใหม่ของโลก เราตระหนักดีว่า ผู้ประกอบการจะประกอบกิจการได้ต้องมีความรู้และเงินทุน ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่กระทรวงมี SME D BANK กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ช่วยกันสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้เข้มแข็งมีผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความรู้เรื่องคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวและประกอบอาชีพใหม่ภายใต้กติกาใหม่ได้ ซึ่งหากมีหน่วยงานใดมีอะไรที่จะแนะนำกระทรวงอุตสาหกรรม ทางกระทรวงก็พร้อมรับฟัง และนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทาง ADB ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ SME D Bank เพื่อพัฒนากรอบการเงินที่ยั่งยืนในปี 2564 และ 2565 และพัฒนากระบวนการระดมทุนทั้งในรูปแบบพันธบัตร และผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อสำหรับสนับสนุน SME ไทย ยกระดับสู่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model (BioCircularGreen Economy)   ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยยุคใหม่ด้วย BCG Model

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ADB อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ซึ่งเป็นหน่วยรับรองระบบงานต่างๆ ตามกติกาสากลในประเทศไทย เพื่อให้การรับรองตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสำหรับ SME ขณะเดียวกันก็ได้สำรวจความต้องการ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขยาย ขอบเขตและปรับปรุงการดำเนินงาน ของกองทุนลดคาร์บอน (Decarbonization Fund) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัด ผลกระทบที่เหมาะสมซึ่ง MASCI สามารถรองรับได้ จากนี้ธนาคารเอดีบี จะจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการออกแบบและการดำเนินการสำหรับ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ซึ่งอาจอยู่ภายใต้กองทุน เพื่อสนับสนุน SMEs ของไทยในสาขาสำคัญ เช่น ยานพาหนะไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้า เกษตรกรรมและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

A person in a blue shirt

Description automatically generated

นายภาสกร ชัยรัตน์

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม

 

2. “ดีพร้อม” ส่งเสริมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มไทย ปีนี้มี 22 กิจการผ่านมาตรฐาน Thailand Textiles Tag (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2567)

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ภาครัฐมีนโยบายขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้เกิดมูลค่าและรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับแรงกดดันสูงจากกลุ่มประเทศตลาดใหม่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมทั้งนำจุดเด่นของไทยประสานกับความคิดสร้างสรรค์สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทยให้มีความโดดเด่นในตลาดโลก และเพิ่มมาตรฐานของสินค้าในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (Thailand Textiles Tag) ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยการบูรณาการกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่น ผู้ผลิตเส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบ พร้อมการขอรับรองภายใต้ตราสัญลักษณ์คุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 มีผู้ประกอบการสนใจยื่นขอการรับรองและได้รับตราสัญลักษณ์ดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 22 กิจการ 34 ผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าผืนสำหรับนำไปพิมพ์และตัดเย็บเป็นกางเกงช้างและกางเกงประจำจังหวัดต่างๆ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือ เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งบุรุษและสตรี รวมทั้ง ชุดเครื่องนอนและเสื้อผ้ากีฬาที่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างเนื้อผ้าให้สัมผัสแล้วรู้สึกเย็นสบาย เป็นต้น คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โดยใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเครื่องหมายรวมทั้งสิ้น 151 กิจการ 271 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 180 ล้านบาท

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

3. กนอ.เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2567)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อทบทวนการศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการ กนอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการนำเสนอหลักการที่ต้องการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่อหลักการเดิมของโครงการฯ ที่คณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนพ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจหรือกิจการของภาคเอกชนในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และลักษณะทางกายภาพของสภาพพื้นที่ของโครงการฯ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 3) กล่าวว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและความต้องการที่จะพัฒนาโครงการฯ ประกอบด้วย พื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร เพื่อนำไปวิเคราะห์รูปแบบการประกอบธุรกิจรวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญ สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยงานขุดลอกร่องน้ำ งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ และลงทุนธุรกิจท่าเทียบเรือก๊าซ 200 ไร่ กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล หรือ GMTP เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี กนอ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 12,900 ล้านบาท บริษัท GMTP ลงทุนท่าเทียบเรือก๊าซ 35,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 84% พร้อมเปิดให้บริการปี 2569 ส่วนช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาสำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ประกอบด้วยพื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ญี่ปุ่นเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 1.8% ในเดือนพ.ค. สวนทางคาดการณ์ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2567)

กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นลดลง 1.8% ในเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางของญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายเดือน การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นลดลง 0.3% ในเดือนพฤษภาคม สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเป็นดัชนีชี้วัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นปรับลดการประเมินตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1/2567 เป็นหดตัวลง 2.9% จากตัวเลขประมาณการเดิมที่ระบุว่าหดตัวเพียง 1.8% โดยนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า การปรับลดการประเมินตัวเลข GDP อาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นรายไตรมาสในเดือนนี้ และอาจจะ  มีผลกระทบต่อช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของ BOJ ด้วยเช่นกัน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)