ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ยันไทยยังครองฐานผลิตรถ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ย้ายโรงงานผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จากโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปโรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่า ได้รับทราบรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยเห็นว่าที่ผ่านมาบริษัท ฮอนด้าฯ ได้ย้ายการผลิตส่วนหนึ่งไปแล้ว เมื่อช่วงปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ และครั้งนี้ก็เห็นว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตไปรวมกันมากกว่า และส่วนหนึ่งก็ช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปทุกค่ายได้ปรับตัว ขณะที่ค่ายรถยนต์ใหม่ๆ ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี มีการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่า การแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ตอนนี้ มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของค่ายรถยนต์แต่ทั้งหมดเชื่อว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ในหลายประเภท ดังนั้นการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์แต่ละแห่งตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ทั้งรถยนต์เครื่องยนต์และอีวี สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องหาทางบริหารจัดการและหาทางสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ถึงแนวทางการสนับสนุนและการช่วยเหลือโดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้คุยกับทางเอกชนญี่ปุ่นไปแล้ว มีข้อเสนอหลายอย่าง ซึ่งรัฐบาลก็กำลังพิจารณา แต่สิ่งที่เป็นห่วงตอนนี้คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับซัพพลายเชน ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีของไทย จึงขอความร่วมมือว่าให้ช่วยเหลือกัน เพราะตอนนี้เทรนด์ความต้องการรถยนต์เปลี่ยนไป โดยอยากให้มองว่า แม้มีรถอีวีเข้ามาก็ตาม แต่ก็มีมุมบวกกับรถยนต์สันดาปเหมือนกัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามหาทางช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ที่รัฐจะเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปร่วมงานเปิดโรงงานของ จีเอซี ไอออน ซึ่งผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย โดยจะช่วยสะท้อนถึงการใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์อีวีของภูมิภาคนี้

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ถกไนจีเรีย-ยูกันดา-อียิปต์ ส.อ.ท.มุ่งขยายการค้าลงทุนแอฟริกา (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. โดย สภาธุรกิจไทย-แอฟริกาใต้ ได้ต้อนรับ Chief Dr. Mujidat Folasade Tinubu-Ojo บุตรีของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย และคณะนักธุรกิจจากไนจีเรีย เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทยและไนจีเรีย โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรมยา เครื่องมือทางการแพทย์ เหมืองแร่ ปิโตรเลียม เป็นต้น ทั้งนี้ ส.อ.ท. ยินดีที่จะช่วยเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างสมาชิก ส.อ.ท. และนักธุรกิจไนจีเรียที่ต้องการขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งไนจีเรียเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากและเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ขยายตลาดการค้า นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้ต้อนรับ H.E. Mrs. Betty O. Bigombe เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูกันดา ประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในโอกาส    เข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมด้วยนายโอฬาร วีรวรรณ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐยูกันดา ประจำประเทศไทย เพื่อหารือถึงความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการเกษตร อาหาร เครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนการจัดทำมาตรฐาน ทั้งนี้ยูกันดาตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก และเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแร่มากมาย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กาแฟ เครื่องเทศ ด้ายและเส้นใย

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. โดย สภาธุรกิจไทย-อียิปต์ ยังได้เข้าร่วมงาน NEW MODERN EGYPT:TIPS IN DOING BUSINESS ทั้งนี้ ได้มีการให้ข้อมูลแก่ภาคเอกชนไทยที่มีความต้องการขยายตลาดการค้าและการลงทุนไปยังอียิปต์ สถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจอียิปต์ปัจจุบันการประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติและกฎระเบียบต่างๆ และโอกาสสินค้าไทยในตลาดอียิปต์ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ด้านการลงทุน

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอเปิดสนง.ซาอุฯ เชื่อมการค้าการลงทุน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13 - 15 กรกฎาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะนำคณะหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อจัดงานประชุมภาคธุรกิจครั้งใหญ่ "Thai - Saudi Investment Forum" และงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศแห่งที่ 17 และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยจะรับผิดชอบทั้งภารกิจดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าสู่ประเทศไทย และการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจไปลงทุนในตะวันออกกลาง โดยในครั้งนี้ จะมีผู้บริหารของ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทชั้นนำของไทย ร่วมเดินทางกว่า 70 คน และจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทย - ซาอุฯ รวมกว่า 10 ฉบับด้วย ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบีย ได้ฟื้นความสัมพันธ์กันในปี 2565 รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้จัดคณะเดินทางเยือนซึ่งกันและกันมากกว่า 10 ครั้ง รวมทั้งเร่งสร้างความร่วมมือผ่านกลไกคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทำให้มีแนวโน้มความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น โดยประเทศซาอุดีอาระเบีย มีกองทุน Public Investment Fund (PIF) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีการลงทุนสูงที่สุดในโลก และกำลังเร่งขยายการลงทุนในประเทศต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่มีแผนพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย โดยจะเน้นลงทุนเพิ่มเติมในสาขาโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี อีกทั้งให้ความสนใจเป็นพิเศษกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น ธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรมขั้นสูง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแพทย์ เกษตรและอาหารแปรรูป พลังงานสะอาด ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไทยและซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพในการเป็น Twin Hub ซึ่งกันและกัน โดยซาอุฯ อาจพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการ ลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน และใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ที่เป็น เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่นักธุรกิจไทยสามารถใช้โอกาสจากความร่วมมือกับซาอุฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของตะวันออกกลาง ในการขยายตลาดไปสู่ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีประชากรมากกว่า 400 ล้านคน และ มีกำลังซื้อสูง   การเปิดสำนักงานบีโอไอที่ ซาอุฯ ครั้งนี้ จะช่วยสร้างความร่วมมือและผลักดันการลงทุนระหว่างกันให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

A red and white flag

Description automatically generated

 

4. GDP สิงคโปร์โตเร็วขึ้นใน Q2/67 หลังเงินเฟ้อชะลอตัว-ภาคการผลิตฟื้นตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2567)

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2567 ขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งแข็งแกร่งกว่าในไตรมาส 1/2567 ที่มีการขยายตัว 0.3% และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7% ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ได้รับปัจจัยหนุนจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ยังระบุด้วยว่า ภาคการผลิตขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส และขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสิงคโปร์ฟื้นตัว หลังจากที่หดตัวลง 5.3% ในไตรมาส 1 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส และหดตัวลง 1.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนภาคการก่อสร้างขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส และขยายตัว 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)