ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกรกฎาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'พิมพ์ภัทรา' ถก 'JETRO' หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตฯ สีเขียว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ "Eco R Japan" จังหวัดโทจิหงิ ภูมิภาคคันโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและสนับสนุนการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยมาตรการ ELV มุ่งเน้นลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ การบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี และการนำชิ้นส่วนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ บริษัท Eco-R Japan เป็นผู้นำด้านรีไซเคิลรถยนต์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1959 มุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากรถยนต์เก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด Eco-R ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรและสังคมไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปสำนักงานใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อหารือร่วมกับ นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธาน JETRO และผู้บริหาร JETRO ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาไทยสู่ความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ไทยมุ่งมั่นผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นโยบาย BCG สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการผลักดันมาตรการ ELV ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานที่มีกระบวนการจัดการของเสียที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการซากรถยนต์ หลอดไฟ และแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ รวมถึงมีโอกาสได้เยี่ยมชม Eco Town ของจังหวัดคิตะคิวชู ซึ่งเป็นต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วย ทั้งนี้ ไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงวางนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลไทย  ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

 

A person in a blue shirt

Description automatically generated

นายภาสกร ชัยรัตน์

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

2. ปั้น Smart Farmer แปรรูปเกษตรสู่อุตสาหกรรม (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2567)

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM หรือ กสอ.) เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรม กรมมีแผนว่าจะใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการเกษตรของไทย ให้เป็น Smart Farmer หรือ "นักธุรกิจเกษตรสมัยใหม่" ด้วยการกำหนดรูปแบบ แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ผลผลิตการเกษตร การใช้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำมาช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องสร้างมาตรฐานการผลิตและแปรรูปสินค้าทางการเกษตร สร้างตลาดใหม่เป็นศูนย์รวมการกระจายสินค้าทางการเกษตร จากนั้นจะต้องสร้างธุรกิจใหม่จากการเกษตร เช่น การนำของเสียจากธุรกิจเกษตรหนึ่งไปสร้างมูลค่ากับอีกธุรกิจเกษตร เพื่อผลประโยชน์ที่สูงสุดนำกลับสู่เกษตรกรในรูปแบบของการปันผลจากผลกำไรสุดท้าย ที่ได้จากการแปรรูปจำหน่ายในระบบอุตสาหกรรมเกษตรที่สมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ เป้าหมายจึงถูกพุ่งไปที่ภาคการผลิต ผู้ประกอบการที่จากเดิมส่งออกในรูปแบบของสด จะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการแปรรูป แต่จะแปรรูปอย่างไรให้ถูกใจตลาด ถูกใจเทรนด์สมัยใหม่ นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยที่ผ่านมา กสอ.จะมีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ มีการเปิดโครงการฝึกอบรมกันทุกปี ในผลลัพธ์ที่ควรจะได้ คือ การเกิดขึ้นของเหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่มีโปรดักต์ใหม่ๆ กลับมาติดกับดักทั้งแวดล้อมภายในและภายนอก ซึ่งหมายถึง "เงินทุน" และ "สภาพเศรษฐกิจ" รวมถึง "ดิน ฟ้า อากาศ" และต้องไม่ลืมว่าเมื่อโรงงานแปรรูปต้องพึ่งพาผลผลิตจากชาวสวน นั่นหมายถึง การที่ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงกับต้นทุนการผลิตสูง และผลผลิตที่มีราคาไม่แน่นอน ขาดการเชื่อมโยงในลักษณะคลัสเตอร์

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ได้ สิ่งแรก ต้องยกระดับภาคการเกษตร การดึงเอาวัตถุดิบของแต่ละท้องถิ่นขึ้นมาแล้วค่อยๆ ขยายวงออกไป จะเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จได้มากที่สุด เช่น การนำโกโก้ในพื้นที่ภาคใต้ปั้นให้เป็น "ไทยโกโก้ฮับ" ของอาเซียน แต่การจะเดินคนเดียวก็คงยาก การดึงเจ้าของแบรนด์ "ภราดัย" ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทย การันตีรางวัลเหรียญทอง ระดับโลก จากเวที Academy of Chocolate Award 2021 จึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เป้าหมายสำเร็จ เช่นเดียวกับ พืชผลท้องถิ่นชนิดอื่น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. ครึ่งปียอดขอ BOI 4 แสนล. FDI สิงคโปร์เม็ดเงินลงทุนมากที่สุด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - มิถุนายน 2567) การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% และได้มีการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,451 โครงการเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 476,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีกกว่า 1.3 ล้านล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 4.9 แสนล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 1 แสนตำแหน่ง ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 139,725 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 39,883 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 33,121 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 25,344 ล้านบาท และดิจิทัล มูลค่า 25,112 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อาทิ กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 889 โครงการ เพิ่มขึ้น 83% เงินลงทุนรวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 90,996 ล้านบาท จีน 72,873 ล้านบาทฮ่องกง 39,553 ล้านบาท ญี่ปุ่น 29,987 ล้านบาท และไต้หวัน 29,453 ล้านบาทโดยในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 211,569 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 179,332ล้านบาท ภาคเหนือ 32,972 ล้านบาทภาคใต้ 15,694 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14,087 ล้านบาท และภาคตะวันตก 4,705 ล้านบาท

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

Description automatically generated

 

4. ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบกว่า 2 ปีในเดือนก.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2567)

เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.0 ในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน จากระดับ 54.8 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตอยู่ในภาวะ   หดตัว โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 51.6 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนี PMI     อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน จากระดับ 55.3 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการมีการขยายตัว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)