ข่าวในประเทศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
1. ภาคอุตสาหกรรมยังแย่ 'กำลังซื้อวูบ-ต้นทุนพุ่ง' ฉุดดัชนี PMI ร่วง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2567)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตของไทยยังคงหดตัว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัว 1.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่58.41% เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ทั้งนี้ การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 94.74 หดตัวเฉลี่ย 0.27% มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัว 3.58% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 57.79% ในขณะที่ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัวเฉลี่ย 2.01% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.11% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนกรกฎาคม 2567 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง" โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซาส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในระยะนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 41.90% ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัว 3.58% อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัว 14.33% ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลง18.05% ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลดลง 20.08% จักรยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.42%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. ส.อ.ท.ผนึกพันธมิตรสร้างนวัตกรรม 8 อุตฯ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) กับมอนต์โกเมอรี เคาน์ตี รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจไทยในการขยายตัวเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาทั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคอีกด้วย นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้นำผู้ประกอบการร่วมออกบูธ Startup x Innovation Thailand Expo 2024 (SITE 2024) ภายใต้งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ อว.แฟร์ (SCI POWER FOR FUTURE THAILAND) ที่ผ่านมา โดยเป็นงานแสดงสินค้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพและวิสาหกิจนวัตกรรมในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยภายในงาน มีบูธจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพบปะและเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจจากทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรม ได้ทำการศึกษาตัวอย่างการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมจากประเทศชั้นนำ เช่น ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าเรายังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศชั้นนำได้ เนื่องด้วยบุคลากรและงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มองว่าจุดแข็งของประเทศไทย คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลกซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ส.อ.ท. มี 8 อุตสาหกรรมนำร่องที่สอดรับกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องสำอาง เชื้อเพลิงชีวภาพและไบโอพลาสติก เป็นต้น โดยภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และในอนาคต เราจะสามารถแข่งขันได้ หากมีการพัฒนาด้าน R&D ให้เข้มแข็ง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเอง มีความพร้อมที่จะพัฒนาในส่วนนี้อยู่แล้ว หากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. BOI หนุน Startup สู่ตลาดโลก ดึงกองทุนเอกชนเสริมแกร่ง (ที่มา: ทันหุ้น, ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (บอร์ดกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้เห็นชอบ "มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง" และออกประกาศคณะกรรมการ ที่ 2/2567 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริม Startup ไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรม เป้าหมาย และอยู่ในระยะการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ ตั้งแต่ระดับ Pre Series A ถึง Series A โดยบีโอไอจะให้เงินสนับสนุนแก่ Startup รายละ 20-50 ล้านบาท ในลักษณะการร่วมลงทุน (Matching Fund) ร่วมกับกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ของเอกชน เพื่อสนับสนุน Startup ที่มีศักยภาพของไทยให้สามารถต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพื่อขยายธุรกิจในตลาดโลกและเติบโตไปสู่ระดับยูนิคอร์นได้ รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอรับการส่งเสริม จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยมีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และกลุ่มผู้ก่อตั้ง (Founder) ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 โดยต้องดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ เกษตร อาหาร การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ เป็นต้น และต้องเสนอแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะแผนการออกสู่เวทีระดับโลก เช่น แผนระดมทุนรอบถัดไปในต่างประเทศ แผนส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการไปจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อน "มาตรการส่งเสริม Startup ที่มีศักยภาพสูง" ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองโครงการ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบีโอไอและหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการส่งเสริม Startup เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น
ข่าวต่างประเทศ
4. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นลด 3.6% ในเดือนมิ.ย. เหตุหยุดผลิตรถยนต์ชั่วคราว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2567)
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลง 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยสาเหตุหลักมาจากการหยุดผลิตรถยนต์ชั่วคราว อันเนื่องมาจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งดัชนีการผลิตของโรงงานและเหมืองแร่ที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้วอยู่ที่ระดับ 100.6 เมื่อเทียบกับฐานปี 2563 ที่ระดับ 100 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังคงมีมุมมองเช่นเดียวกับในเดือนพฤษภาคม โดยระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมแสดงสัญญาณอ่อนแอและมีความผันผวนอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการสำรวจภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม 15 ภาคส่วนบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมทั้ง 15 ภาคส่วนมีผลผลิตลดลง โดยดัชนีการจัดส่งภาคอุตสาหกรรมลดลง 4.3% แตะที่ 99.4 ขณะที่ดัชนีสินค้าคงคลังลดลง 0.6% สู่ระดับ 102.7 ทั้งนี้ กระทรวงฯ คาดการณ์โดยอิงจากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ผลิตว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือนกรกฎาคม และ 0.7% ในเดือนสิงหาคม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)