ข่าวในประเทศ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'อุตฯ' จ่อถกคุมสินค้าจีน ห่วงไม่ได้มาตรฐานทะลักไทยกดเอสเอ็มอีระส่ำ (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2567)
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศอย่างมาก ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการสั่งการให้เร่งหามาตรการและแนวทางในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว โดยเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ถึงแม้ไม่มีแฟลตฟอร์มจีน อย่าง Temu เข้ามา กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีการพูดคุยกันอยู่แล้วว่าจะเข้ามาดูเรื่องนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้สินค้ายกตู้ สินค้าที่เข้ามาทางชายแดน หรือสินค้าที่มีการสั่งทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มีวิธีการตรวจสอบหรือดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดีและมีคุณภาพได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 อยู่ที่ 2.2-2.7% ด้านการส่งออกขยายตัว 0.8-1.5% และอัตราเงินเฟ้อขยายตัวที่ 0.5-1.0% จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2% ในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้ ขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น สร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้
นายภาสกร ชัยรัตน์
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
2. ดีพร้อม มอบรางวัล 5 ต้นแบบเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาการผลิต ดันสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม (ที่มา: บางกอกทูเดย์, ประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2567)
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในสินค้าที่สำคัญของไทย และเป็นแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำ เนื่องจากจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบของสินค้าวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูป ตลอดจนธุรกิจเกษตรยังขาดการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของประเทศไทยจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการสนับสนุนการนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ช่วยยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัย รวมถึงสามารถทดแทนแรงงานและเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DI PROM) ได้กำหนดนโยบาย "RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ภายใต้กลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของธุรกิจเกษตร ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีทุ่นแรง และเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงสำหรับเกษตรแปรรูป ผ่านกิจกรรม "การใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านการประกวด DIPROM Agro-Machinery Award 2024" ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องจักรให้แก่วิสาหกิจในแต่ละภูมิภาคให้สามารถดำเนินการได้ดีขึ้นผ่านฟังก์ชันการทำงานต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจเกษตรมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการในต้นทุนที่ต่ำ โดยยังคงคุณภาพและความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างโอกาสในด้านเกษตรกรรม และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่มีศักยภาพในการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่า รายได้ และเป็นแบบอย่างให้แก่ธุรกิจเกษตรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าว ดีพร้อม ยังได้จัดมอบรางวัล DIPROM Agro-Machinery Award 2024 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยการคัดเลือกจากผลงานของทีมต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ระบบ AI สำหรับตรวจวัดปริมาณอาหารในการเลี้ยงกุ้ง 2) รางวัลรองชนะเลิศรองอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องฝานกล้วย 3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องผ่าผลสดโกโก้แบบอัตโนมัติ 4) รางวัล Technical Challenge ได้แก่ หม้อต้มปลาอัจฉริยะ (Boiler Machine) และ 5) รางวัล Knowledge Sharing ได้แก่ ระบบควบคุมอุณหภูมิและแสดงผลในกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์เพื่อควบคุมอุณหภูมิไอน้ำที่ใช้ในรางนึ่งเส้นก๋วยเตี๋ยว อีกทั้งยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ 20 ทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ เชื่อมั่นได้ว่าเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปจะช่วยยกระดับรายได้ของธุรกิจเกษตรต่อยอดสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมอันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าในปี 2567 จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
3. สศอ. โต้โรงงานผลิตรถยนต์ ICE ปิดตัวลง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลส่งเสริมรถ EV (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2567)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวประเด็นรัฐบาลไทยทำอุตสาหกรรมผลิตรถในประเทศที่เคยเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” กลายเป็นตำนานหลังให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถไฟฟ้าอีวี ส่งผลให้รถไฟฟ้าจีนยอดพุ่งทำยอดขายรถสันดาปใช้น้ำมันค่ายญี่ปุ่นที่ผลิตภายในประเทศลดลงทันที รวมถึงมีการย้ายฐานกลับกระทบโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไทย ต้องปิดตัวหรือปลดคนงาน และทำให้มาเลเซียขึ้นแชมป์กลายเป็นเบอร์ 2 แทนที่ไทยนั้น ขอชี้แจงว่า ด้วยสภาพอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติธรรมชาติ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) โดยบางประเทศมีมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในปี 2578 หรือบางประเทศมีมาตการภาษีควบคุมการนำเข้า เพื่อให้พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข่งขันได้ และสอดรับกับความต้องการของตลาดโลก สำหรับประเทศไทย รัฐบาลเปิดกว้าง โดยส่งเสริมการลงทุนและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ตั้งแต่รถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ล้วน (BEV) ตลอด 25 ปี รัฐบาลไทยมีนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในประเทศ โดยเปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ทุกสัญชาติ และมีมาตรการสนับสนุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น สิทธิประโยชน์ภาษีและมิใช่ภาษี รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนามาตรฐานศูนย์ทดสอบและวิจัยยานยนต์ และการพัฒนาแรงงานฝีมือ นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการผลิตในประเทศ รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการส่งเสริมการใช้ เช่น มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ EV3 และ EV3.5 โดยที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์สัญชาติ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และไทย เข้าร่วมกว่า 14 ราย ซึ่งได้ให้การอุดหนุนเงินสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ รวม 6,700 ล้านบาท และมีผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับ BEV รวม 18 โครงการ เป็นเงิน 39,000 ล้านบาท กำลังการผลิตตามแผนรวม 400,000 คันต่อปี ขณะเดียวกัน ยังมีในส่วนของการเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การเพิ่มเติมกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญในเขต Freezone เพื่อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์ กับ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุของการปิดตัวโรงงานผลิตรถยนต์ ICE และการลดกำลังการผลิต ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 GDP โตน้อยกว่าร้อยละ 2 โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2566 สืบเนื่องจากผลกระทบของปัญหาหนี้เสียในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวด โดยเฉพาะรถกระบะ ICE (ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีการผลิตหรือใช้รถกระบะ BEV) เพราะผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระงวดได้จากสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดครึ่งปีแรก แตะ 12.68 ล้านล้านเยน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2567)
กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 12.68 ล้านล้านเยน (8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยปัจจัยหนุนสำคัญมาจากสองส่วน คือ หนึ่ง ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้อานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนตัว และสอง การขาดดุลการค้าที่ลดลง โดยรายได้หลักของญี่ปุ่นเกินดุลอยู่ที่ 19.20 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรต่างประเทศที่สูงขึ้น ตัวเลขนี้ถือเป็นยอดเกินดุลรายได้หลักสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับรอบครึ่งปี ส่วนการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 2.61 ล้านล้านเยน เนื่องจากการส่งออกขยายตัว 6.7% แตะระดับ 50.61 ล้านล้านเยน ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 1.1% แตะระดับ 53.22 ล้านล้านเยน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดการค้าระหว่างประเทศ ที่ครอบคลุมที่สุด โดยเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทำให้ราคาสินค้านำเข้าทุกประเภทพุ่งสูงขึ้น ตั้งแต่พลังงาน วัตถุดิบ ไปจนถึงอาหาร แต่ในทางกลับกัน เงินเยนที่อ่อนค่าก็ส่งผลดีสองประการ คือ หนึ่ง ช่วยเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนจากการลงทุน และสอง ส่งเสริมการท่องเที่ยวขาเข้า เพราะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถมาเที่ยวและชอปปิงในญี่ปุ่นได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง โดยญี่ปุ่นทำสถิติเกินดุลการท่องเที่ยวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 ล้านล้านเยน นั่นหมายความว่า เงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในญี่ปุ่นมีมูลค่ามากกว่าเงินที่ชาวญี่ปุ่นนำไปใช้จ่ายในต่างประเทศ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)