ข่าวในประเทศ
นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
1. ยกมาตรฐานโรงงาน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2567)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณผู้ประกอบการ ที่เป็นแบบอย่างในการนำระบบธรรมาภิบาลมาบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว สามารถสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสังคม ตลอดจนสร้างการยอมรับจากทุกภาคส่วนในระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนโดยรอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่คู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และเป็นไปตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษของจังหวัดระยอง โดย กนอ. จะประกาศเกียรติคุณและมอบธงธรรมาภิบาลฯ ที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียว (Green Star Award) สำหรับโรงงานที่มีผลการประเมินในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม รวมทั้งประกาศเกียรติคุณและมอบธง ธรรมาภิบาลฯ ที่มีสัญลักษณ์ดาวสีทอง (Gold Star Award) สำหรับโรงงานที่รักษามาตรฐานในการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี นับจากปีที่ประเมิน (2560 - 2566)
อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนลดและขจัดมลพิษ โดยคณะทำงานตรวจประเมินโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น สื่อท้องถิ่น และชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลบ้านฉาง และกลุ่มประมงเรือเล็ก โดยร่วมกันกำหนดเกณฑ์ในการประเมินทั้งสิ้น 10 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดการน้ำ 2. การจัดการด้านขยะ/กากของเสีย 3. การจัดการระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ 4. การจัดการไอระเหยสารเคมีและสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) 5. ความปลอดภัยของสภาพพื้นที่การทำงาน 6. การจัดการอุบัติเหตุ/อุบัติภัยและข้อร้องเรียน 7. การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว 8. การสนับสนุนชุมชนและการมีส่วนร่วมกับภาคสังคม 9. การจราจรขนส่ง (วัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์) และ 10. ความครบถ้วน ถูกต้องของข้อมูล และระบบการจัดการตามมาตรฐานสากล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค. ปรับขึ้น ส.อ.ท. ชี้เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 89.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.2 ในเดือนมิถุนายน 2567 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและยา เครื่องสำอาง ขณะที่การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกัน การขอรับการส่งเสริมการลงทุนขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2567) มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท ขยายตัว 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ ฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วงโลว์ซีซั่นของภาครัฐ ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 93.4 ในเดือนมิถุนายน 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งการใช้จ่ายและ การลงทุนของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 การขยายตัวของภาค การท่องเที่ยวซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฯลฯ ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังห่วงกังวล ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1. เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานในภาคขนส่ง 2. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกำหนดดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกและสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ และ 3. เสนอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้า Made in Thailand ในโครงการ Digital Wallet เพื่อสร้างโอกาสและทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
นายดนุชา พิชยนันท์
เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
3. จีดีพีไทยไตรมาส 2 ปีนี้เร่งตัวขึ้น 2.3% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2567)
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสแรกของปี และเมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.2% โดยปัจจัยสำคัญมาจากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ 6.2% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว สาขาที่พักแรม และบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สาขาการก่อสร้างและสาขาเกษตรกรรมปรับตัวลดลง ทั้งนี้ สำหรับประมาณการจีดีพี ปี 2567 อยู่ที่ 2.3-2.8% ค่ากลางอยู่ที่ 2.5% ลดลงประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ในระดับ 2.0-3.0% ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายได้ดีขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องดูว่ารัฐบาลมีการปรับเปลี่ยน ในลักษณะใดหรือไม่ จากเดิมที่มีข้อเสนอสำคัญไป 2 เรื่อง คือ แหล่งที่มาของเงิน จากงบประมาณปี 2567 ที่มีการใช้จ่ายแล้ว และงบประมาณปี 2568 ที่จะเข้ามาวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ และเรื่องระบบของการใช้จ่ายเงิน ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันในระดับนโยบาย ซึ่งหากไม่มีมาตรการนี้จะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มรายได้น้อย ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างน้อย 1 มาตรการ
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นเล็งเพิ่มส่งออกอาหารทะเลไปตลาดใหม่ ชดเชยจีนห้ามนำเข้า (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2567)
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามที่จะเพิ่มการส่งออกอาหารทะเลไปยังตลาดต่างๆ ในเอเชีย สหรัฐ และยุโรปมากขึ้น เพื่อชดเชยยอดขายที่หายไปจากการที่จีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินมาหนึ่งปีแล้ว ทั้งนี้ จีนซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดสำหรับอาหารทะเลของญี่ปุ่นนั้น ห้ามการซื้ออาหารทะเลที่มีแหล่งกำเนิดจากญี่ปุ่น โดยระบุว่า มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี หลังจากที่บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ เริ่มปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากการส่งออกไปจีนร่วงลงถึง 43.8% โดยการส่งออกหอยเชลล์ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ร่วงลง 37% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ JETRO กำลังส่งเสริการขยายตลาดส่งออกสำหรับหอยเชลล์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมของจีน ด้วยการสร้างช่องทางการค้าใหม่ๆ ในเอเชีย สหรัฐ และยุโรป
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)