ข่าวในประเทศ
นายภาสกร ชัยรัตน์
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)
1. ทุ่ม 1,700 ล้าน ปลุกเอสเอ็มอี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 6 กันยายน 2567)
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยถึงแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปีงบประมาณ 2568 ว่า ดีพร้อมได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2567 ได้รับ 1,200 ล้านบาท ทำให้ปีงบใหม่นี้มั่นใจจะช่วยเหลือ เอสเอ็มอีทั้งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่ให้แข่งขันในประเทศและตลาดโลกได้ เพราะเอสเอ็มอีคือฐานรากเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ โดยปีงบ 2568 จะเน้นสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย นอกจากนี้ เพื่อเดินหน้านโยบาย "RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ด้วยการมุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเครื่องดื่มไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้เติบโตได้ในระดับสากลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงได้จัดงาน "CRAFT DRINK by DIPROM ศาสตร์และศิลป์เครื่องดื่มไทย นำธุรกิจไกลสู่สากล" ขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน เวลา 10.00-22.00 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม และเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างเต็มที่ และตอกย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน โดยชูสินค้า 3 กลุ่มหลักสำคัญ ได้แก่ กาแฟ โกโก้ และสุราพื้นบ้าน จาก 120 ร้านค้าทั่วประเทศ หวังยกระดับสินค้าชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ พร้อมพัฒนาตลาดสินค้าเครื่องดื่มชุมชนเหล่านี้ให้เป็นที่แพร่หลายไปสู่ระดับโลก
อย่างไรก็ตาม งานนี้เป็นการสร้างปรากฏการณ์การรวมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของไทย ที่มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอาหารของไทย อีกทั้ง ยังได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากกลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนจากทุกภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ตั้งเป้ามีผู้ร่วมงานมากกว่า 100,000 คน และต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท ตลอดการจัดงาน 6 วัน
นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
2. กนอ.พอใจผลงานขาย/เช่าที่ดินกว่า 6 พันไร่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 กันยายน 2567)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 กนอ. ประสบความสำเร็จในการขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 6,174 ไร่ (ณ เดือนตุลาคม 2566 – กรกฎาคม 2567) ถือเป็นสถิติใหม่ (New High) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์นั้น สะท้อนถึงความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่สูงมาก (High demand) โดยความสำเร็จนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของภาคส่วนต่างๆ กนอ. และพันธมิตรในการดึงดูดนักลงทุน รวมถึงเป็นแรงผลักดันให้ กนอ. พัฒนาประสิทธิภาพการบริการ และการบริหารจัดการ นิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ กนอ. ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับองค์กร กนอ. สู่ยุคดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยว่า กนอ. ทำ Digital Transformation มาตั้งแต่ช่วง Covid-19 โดยพยายามพัฒนาไปสู่ระบบ Big Data และ AI เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ รวมถึงระบบ Digital Twin เพื่อบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขยายผล จากนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ไปยังนิคมอุตสาหกรรมของกนอ. เอง 13 แห่ง นอกจากนี้ ยังกำหนดรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่สามารถตอบโจทย์ด้านการใช้ระบบสาธารณูปโภค ด้วยพลังงานสะอาดและคาร์บอนต่ำ หรือ Smart IE. รวมถึงพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจกทั้งระบบ ที่สำคัญ กนอ. ยังดำเนินการจัดตั้ง I-EA-T Academy เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ กนอ. กำลังดำเนินแคมเปญ "NOW Thailand" เพื่อกระตุ้นและตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติ กนอ. และทุกภาคส่วน จะร่วมกันพัฒนาศักยภาพของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ส.อ.ท.หารือทูตเนปาล ขยายโอกาสทางการค้า-การลงทุน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 กันยายน 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ H.E. Mr. Dhan Bahadur Oli เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย และ Mr.Prakash Adhikari อัครราชทูตที่ปรึกษาว่าครั้งนี้เป็นการหารือถึง ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย-เนปาลซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่าทั้งสองประเทศควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม โดยทางด้านเนปาลต้องการมีความร่วมมือกับไทยในด้านการแลกเปลี่ยนกระบวนการผลิต อาทิ การพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ให้สินค้า ซึ่งทาง ส.อ.ท. ก็มีความยินดีที่จะส่งเสริมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างภาคเอกชนไทย-เนปาล ในอนาคต ทั้งนี้ ในโอกาสที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC SUMMIT) ครั้งที่ 6 ในเดือนกันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ โดยจะมีผู้นำกลุ่มประเทศ BIMSTEC เข้าร่วมการประชุมฯดังกล่าว ซึ่งทางเนปาลและไทยเห็นควรร่วมกันที่จะใช้โอกาสจากความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือบิมสเทคดังกล่าว เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
อย่างไรก็ตาม BIMSTEC (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation) หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งหมด 7 ประเทศประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาเนปาล ศรีลังกา ไทย และภูฏาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อต้องการให้ BIMSTEC เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้เผย GDP หดตัวลง 0.2% ใน Q2/67 เหตุดีมานด์-การส่งออกชะลอตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 5 กันยายน 2567)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภายในประเทศหดตัวลงในไตรมาส 2/2567 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลง และการส่งออกยังคง ซบเซา ทั้งนี้ BOK ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการเบื้องต้น โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อ่อนแอลงในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่มีการขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัว 1.4% ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP เกาหลีใต้ขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 2 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ซึ่งขยายตัว 3.3%
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า BOK ยังระบุด้วยว่าตัวเลขการใช้จ่ายของภาคเอกชนในไตรมาส 2 หดตัวลง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส หลังจากที่มีการขยายตัว 1.3% ในไตรมาส 1 สำหรับการส่งออกในไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้น 1.2% ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่มีการขยายตัว 1.8% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.6% ซึ่งฟื้นตัวหลังจากที่ปรับตัวลดลง 0.4% ในไตรมาส 1 ส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวขึ้น 0.6% ในไตรมาส 2 และการลงทุนด้านการก่อสร้างลดลง 1.7% สวนทางกับในไตรมาส 1 ที่ปรับตัวขึ้น 3.3%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)