ข่าวในประเทศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
1. สศอ.ผลักดันอุตฯ ยุคใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 กันยายน 2567)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวในงานสัมมนา "Transform Regional Industry to the Future : อุตสาหกรรมไทยต้องปรับ หรือ เปลี่ยน" ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลภาคอุตสาหกรรมและการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมในระดับรายพื้นที่ ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการเจริญเติบโตลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 สินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยผลิตไปจำหน่ายไม่ตรงกับความต้องการของโลก อัตราการเติบโตของผลิตภาพด้านแรงงานของไทยถดถอยลง ทำให้ความสามารถการแข่งขันลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ทำให้อุตสาหกรรมไทยต้องปรับโครงสร้างเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการแล้วในบางอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวมุ่งสู่การผลิต High Standard ที่ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงแต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต การคำนึงถึงการผลิตที่ตอบโจทย์ของชุมชนและสังคม รวมถึงการบริหารจัดการที่โปร่งใส คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือการผลิตที่เป็นไปตามแนวคิด ESG โดย สศอ. ได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เรียกว่า อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน อุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นการจัดการซากต่างๆ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม Smart Construction เป็นการย้ายกระบวนการผลิตชิ้นส่วนการก่อสร้างมาอยู่ในเขตพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ ลดมลภาวะของชุมชนรอบข้าง ขณะที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำให้การจัดการและการกำกับขั้นตอนการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบตลอดจนสินค้าสำเร็จรูปที่ส่งไปถึงมือผู้บริโภคมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องการท่องเที่ยว อาทิ SPA และ Wellness ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสอดรับกับนโยบายรัฐบาล Soft Power การดำเนินงานผลักดันอุตสาหกรรมที่กล่าวมานั้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการ Reshape the Future ของภาคอุตสาหกรรมไทย
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ที่มีการสัมภาษณ์เชิงลึกและเข้าพบหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสำคัญ 5 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในแต่ละพื้นที่มีศักยภาพการผลิตที่แตกต่างกัน เช่น แหล่งวัตถุดิบ ความเชี่ยวชาญและคุณลักษณะของแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการด้านโลจิสติกส์ ดังนั้น นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่จึงต้องสอดรับกับชุมชนและสังคมในพื้นที่นั้นๆ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. สภาอุตฯ วอนรัฐ หนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อ (ที่มา: มิติหุ้น, ประจำวันที่ 10 กันยายน 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานครบรอบสำนักข่าว "มิติหุ้น" ว่า ปัญหาหลักของภาคอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือ สินเชื่อ ของผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) โดยอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ผ่านการออกมาตรการทางการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SMEs ไทย พร้อมทั้งปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐ ควรมีมาตรการในการช่วยลดต้นทุนด้านการผลิตของ SMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ในการคงอัตราค่าไฟฟ้าโดยไม่ปรับเพิ่มขึ้น หรือปรับลดค่า Ft เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในสภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการวางแผนรับมือกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลกระทบโดยตรงในอุตสาหกรรมการผลิต
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็นสินค้าราคาถูก และไม่ได้มาตรฐานทุบราคาตลาด ถือเป็นอีกเรื่องที่น่าห่วง เพราะกระทบต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่มีคุณภาพ รวมทั้งตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาด ควบคู่กับการออกมาตรการกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ กระทบต่อผู้ประกอบการไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. เจรจาจับคู่ธุรกิจ 2.8 พันล้าน ผ่านเวที SUBCON Thailand ตะวันออก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 11 กันยายน 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการจัดงาน SUBCON Thailand : The East 2024 โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน) และ บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเกิดการจับคู่ธุรกิจจำนวน 669 คู่ และสร้างมูลค่าเชื่อมโยงธุรกิจกว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งปีนี้มีการขยายพื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุม 8 จังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งงาน SUBCON Thailand : The East 2024 ถือเป็นงานที่รวบรวมผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ครบวงจร โดยตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงานที่ผ่านมา เต็มไปด้วยกิจกรรมสำคัญทั้งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก กิจกรรมเจรจาธุรกิจและงานสัมมนาที่ครอบคลุมทุกมิติของภาคการผลิต รวมทั้งกิจกรรม "FOTON CP SOURCING DAY" ที่บีโอไอร่วมกับ บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จำกัด โดยเกิดการจับคู่ธุรกิจมากถึง 46 คู่ มูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 500 ล้านบาท ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ Supply Chain ระดับโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งนี้ บีโอไอเดินหน้าสนับสนุนให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมโดยผู้ผลิตชิ้นส่วนคุณภาพในประเทศ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain ระดับโลก งาน SUBCON Thailand : The East 2024 ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ภาคตะวันออก และเกิดการจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วน พร้อมสร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ทั้งในด้านการร่วมทุน การจัดซื้อชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิต และการแลกเปลี่ยนความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานรวม 5,229 คน มากกว่าปีก่อนหน้า 10% ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความสนใจและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติในการเลือกใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จในครั้งนี้ บีโอไอจึงมีแผนจัดงานนี้ เป็นประจำทุกปีควบคู่กับงาน SUBCON Thailand ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคกรุงเทพฯ โดยงานครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 17 พฤษภาคม 2568 และงาน SUBCON Thailand : The East 2025 จะจัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 3 - 5 กันยายน 2568 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้จากกองพัฒนาผู้ประกอบการไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผ่าน https://build.boi.go.th
ข่าวต่างประเทศ
4. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสซี่ลดลงในเดือนก.ย. เหตุเศรษฐกิจน่าเป็นห่วง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 10 กันยายน 2567)
สถาบันเวสต์แพค-เมลเบิร์น เปิดเผยผลสำรวจโดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียเดือนกันยายน 2567 ลดลง 0.4% มาอยู่ที่ 84.6 จุด เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับเดือนสิงหาคม ที่เคยปรับตัวขึ้น 2.8% ซึ่งดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 100 จุด บ่งชี้ว่าผู้บริโภคที่มีมุมมองเชิงลบมีจำนวนมากกว่าผู้บริโภคที่มีมุมมองเชิงบวก ทั้งนี้ แม้แรงกดดันด้านค่าครองชีพจะเริ่มเบาบางลง และความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยก็ลดลง แต่ผู้บริโภคกลับเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการจ้างงาน ถึงแม้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) คาดว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่ก็ยังไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยยืนยันหลายครั้งว่าปีนี้คงยังไม่มีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การลดภาษีเงินได้ในวงกว้างที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม ก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่าฐานะการเงินของครอบครัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้วดีขึ้น 1.2% ในเดือนกันยายน และคาดการณ์ว่าจะดีขึ้นอีก 0.2% ใน 12 เดือนข้างหน้า แต่ในทางกลับกัน มุมมองต่อเศรษฐกิจใน 12 เดือนข้างหน้าลดลง 2.6% และลดลง 1.0% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามเริ่มกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในงานมากขึ้น โดยความกังวลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ชี้ว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายน แทบไม่เติบโต และการเติบโตของทั้งปียังคงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)