ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 

 

1. จี้ กนอ. ดึงอุตสาหกรรมอนาคตช่วยยกระดับการลงทุนในไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 20 กันยายน 2567)

 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า ได้เน้นให้ทาง กนอ. ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ไปถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ เช่น เซมิคอนดัก เตอร์ที่เป็นส่วนสำคัญเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรืออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศซึ่งผู้ประกอบการในไทยหลายรายมีศักยภาพสูงนอกจากนี้ได้ฝากให้ กนอ. เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ ส่วนการจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่ผ่านมา กนอ. ถือว่าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องวางแนวทางประสานข้อมูลกับทางกระทรวงฯและต่อยอดองค์ความรู้ของ กนอ. ไปสู่ผู้ประกอบการนอกนิคมฯ เพื่อให้เกิดโรงงานสีเขียวทั่วประเทศซึ่งกระทรวงฯกำลังจัดฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็นหนึ่งเดียวตามแนวนโยบายรัฐบาลดิจิทัล อยากให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กนอ. และกระทรวงฯ ทั้งในเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรม, ขออนุมัติอนุญาตและการรายงานผลประกอบการผ่านแพลต ฟอร์มเดียวกันเพื่อให้ฐานข้อมูลที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้เร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเอสเอ็มอีเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการพร้อมเปิดที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ภายใน 3 เดือนและการผลักดันแก้ไขปัญหาผังเมืองในพื้นที่ที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีที่จะดำเนินการภายใน 3 เดือนเช่นกัน, การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดขั้นตอนและเวลา เรื่องนี้จะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบภายใน 6 เดือน และการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ โดยใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ให้ง่ายต่อการประกอบกิจการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใน 1 ปี

 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

2. สศอ.ชี้ 5 เทรนด์ฮาลาลมาแรงโอกาสทองผู้ประกอบการไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2567)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากประชากรมุสลิมซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นและกระจายตัวอยู่ทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลก โดยเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิมมีอัตราขยายตัวเร่งขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก อีกทั้งประเด็นความไม่มั่นคงทางอาหารในกลุ่มประเทศมุสลิม ยังส่งผลต่อความต้องการสินค้าฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิม ได้หันมาสนใจสินค้าฮาลาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และความโปร่งใสในการผลิต ทั้งนี้ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมฮาลาลโลก มีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2027 ทั้งนี้ยังมีความครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น ยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดจากการวิเคราะห์ของ สศอ. พบ 5 เทรนด์สินค้าและบริการฮาลาลที่น่าจับตามอง ได้แก่ 1. เครื่องสำอางฮาลาล ความงามที่ปลอดภัยและถูกหลักศาสนา 2. แฟชั่นฮาลาล สุภาพ เรียบหรู งามสง่า ทันสมัย 3. Halal Tourism ดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิมจากทั่วโลก 4. ยาฮาลาล นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และ 5. อาหารฮาลาล ดาวเด่นที่ยังมาแรง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสินค้าฮาลาลไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในด้านคุณภาพและมาตรฐาน เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการรับรองฮาลาลที่เข้มงวดและได้รับการยอมรับ ผู้ประกอบการไทยจึงมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดฮาลาลระดับโลก โดยรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของตลาดฮาลาล โดยได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดฮาลาลระดับโลก

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ยกระดับเอสเอ็มอี เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 กันยายน 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดการประชุมที่ปรึกษาสถาบัน SMI วาระปี 2567-2569 ครั้งที่ 1/2567 มีนายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสถาบัน SMI เป็นผู้นำการประชุม โดยได้มีการพูดคุยและหารือถึงแนวทางการพัฒนา ส่งเสริม และช่วยเหลือ SME ของประเทศไทยในหลายประเด็นจากคณะที่ปรึกษาสถาบันฯ สำหรับข้อแนะนำจากคณะที่ปรึกษาสถาบันฯ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนา SME ประกอบด้วยการพัฒนาที่เป็นความต้องการเฉพาะสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าการให้บริการแบบทั่วไป เพราะความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกัน รวมถึงแบ่งกลุ่มตามศักยภาพของผู้ประกอบการ เช่น กลุ่มที่เข้มแข็งพร้อมออกตลาดสากล กลุ่มที่เปราะบางไม่สามารถอยู่รอดได้   ในอุตสาหกรรม ต้องมีแนวทางให้ปรับตัวหรือปรับรูปแบบธุรกิจ ทั้งนี้ ต้องร่วมกันผลักดันให้ SME มีแต้มต่อจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มากขึ้นโดยปัจจุบันมาตรการ Thai SME GP และ Made inThailand รวมกันอยู่ที่ 15% ควรจะต้องร่วมผลักดันให้ได้รับเเต้มต่อมากขึ้นอย่างน้อย 25% จากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับภาคเอกชนที่จัดซื้อสินค้า SME และ Made in Thailand ขณะที่ตลาดในประเทศถือเป็นตลาดที่สำคัญของ SME ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ SME ไทยไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้อย่างแน่นอนดังนั้น SME ควรต้องปรับแนวทางโดยการพัฒนาสินค้าให้แตกต่าง เน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานเพื่อรองรับตลาดบนให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งเสริมสินค้า Made in Thailand อาจจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั้งการใช้วัตถุดิบการผลิตในไทย การนำชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากภายนอกประเทศเข้ามาผลิตในประเทศไทย รวมไปถึงการบริการ อาทิ โลจิสติกส์ และแรงงานคนไทยที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นที่ต้องการทั่วโลก อีกทั้งควรมีการสร้างการมีตัวตนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า Made in Thailand และทำการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงการปรับมุมมองทัศนคติของผู้ประกอบการ SME เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ การชำระหนี้ รวมถึงการทำธุรกิจอย่างถูกต้องในระบบ เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนส.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 18 กันยายน 2567)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนสิงหาคม 2567 เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% หลังจากร่วงลง 0.9% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.04% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงานเหมืองแร่ และสาธารณูปโภค โดยภาคเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 0.8% ขณะที่ภาคสาธารณูปโภคทรงตัว ส่วนการผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% หลังจากร่วงลง 0.7% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายปี โดยการผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนสิงหาคม 2567

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)