ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' ปลุกอุตฯ สีเขียว รง.คว้า 5.7 หมื่นใบรับรอง (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปีงบประมาณ 2567 "ก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน...คู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม...ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว" ว่า กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการปฏิรูป 3 ด้าน ได้แก่ การปฏิรูปที่ 1. การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน 2. Save อุตสาหกรรมไทย และ 3. การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยจะสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรม จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูประบบอุตสาหกรรม และปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล โดยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ทั้งนี้ ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้บุคลากรในทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแก่สถานประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 มอบให้สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 และระดับที่ 5 ในปี 2566-2567 จำนวน 325 ราย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว 36 ราย และอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 4 วัฒนธรรมสีเขียว 289 ราย ณ วันที่ 20 กันยายน 2567 มีสถานประกอบการได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว 57,663 ใบรับรอง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. อุตฯหั่นดัชนี PMI ปี 67 เผยหลายปัจจัยลบรุมถล่มยับ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2567)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 95.08 หดตัว 1.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.30% ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2567หดตัวเฉลี่ย 1.55% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.96% ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง รวมถึงสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยขณะเดียวกัน ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยที่ทรงตัว และต้นทุนพลังงานจากราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูงรวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ทำให้การเดินทางการจัดส่งสินค้า การค้าชายแดน และการผลิตชะงักลงโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจำเป็นต้องหยุดดำเนินการและสถานประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงต้องปิดตัวชั่วคราว สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนสิงหาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.44% จากรถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ส่วนชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.84% จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามทิศทางความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มอื่นๆ และคอนกรีต ปูนซีเมนต์ และ ปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.54% จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และความล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขดัชนี MPI 8 เดือนแรก ปี 2567 หดตัว 1.55% ส่งผลให้ สศอ.ปรับประมาณการปี 2567 คาดว่าดัชนี MPI หดตัว 1.0-0.0% และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม หดตัว 0.5% หรืออาจจะขยายตัวได้ 0.5% โดยมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากสถานการณ์เงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ส่งผลนโยบายการเงินในหลายๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลาย อัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกมายังประเทศในแถบ ASEAN รวมถึงประเทศไทย โดยปีนี้ปีหน้าจะยังไม่เป็นบวก แต่มั่นใจ ปี 2568-2569 จะดีขึ้น ซึ่งมาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI จะเริ่มเข้ามามีส่วนสนับสนุนให้ดัชนี MPI ดีขึ้น
นายยุทธศักดิ์ สุภสร
ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
3. กนอ.ยกทีมเยือน 'เซินเจิ้น' หอบข้อมูลดึงนักลงทุนจีนปักหมุดไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2567)
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2567 กนอ. ได้จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศไทยภายใต้แคมเปญ "Now Thailand - The Golden Era" ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้เชิญชวนนักลงทุนจีนคว้า "โอกาสทอง" เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน ที่มีมาอย่างยาวนาน และโอกาสการลงทุนที่หลากหลายในประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางการลงทุน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แรงงานที่มีทักษะสูง และนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความโดดเด่นด้านผลประกอบการทางเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของรัฐบาล จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก กนอ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย พร้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและครบครัน พร้อมให้บริการและสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างเต็มที่ มุ่งมั่นสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดล BCG และนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 นอกจากนี้ กนอ. พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาให้แก่นักลงทุน และผู้ประกอบการทุกขนาด ยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในกิจกรรมครั้งนี้ ทาง กนอ. ได้นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจไทย โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง นโยบายส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักลงทุนจะได้รับ พร้อมเผยวิสัยทัศน์ "โอกาสทอง" ที่ประเทศไทยมอบให้นักลงทุนจากจีน ภายในงานยังมีกิจกรรม Roundtable เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความร่วมมือกับสมาคมนักธุรกิจ เซินเจิ้น ประเทศไทย และ Customer Visit เยี่ยมชมบริษัท BYD Auto Industry Co., Ltd. เพื่อศึกษาความสำเร็จของการลงทุนจากจีนในประเทศไทย โดยปัจจุบันเครือ BYD ได้ลงทุนในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้พบปะหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) โดย กนอ. ได้แสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสนับสนุน การลงทุน เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
4. ดัชนี PPI เกาหลีใต้ลดลงในเดือนส.ค. ตามทิศทางราคาน้ำมัน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเกาหลีใต้ปรับตัวลงในเดือนสิงหาคม 2567 เนื่องจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันลดลง โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ลดลง 0.1% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน พลิกกลับจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 1.6% ต่ำกว่าในเดือนกรกฎาคม ที่เพิ่มขึ้น 2.6% โดยมีสาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนี PPI หดตัวมาจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันลดลง 4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ดัชนี PPI เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทิศทางเงินเฟ้อ เนื่องจากมีอิทธิพลต่อราคาสินค้าที่ภาคธุรกิจจะเรียกเก็บจากผู้บริโภคในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่งในเดือนสิงหาคม เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว BOK มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 13 ครั้งติดต่อกัน โดยการตรึงดอกเบี้ยของ BOK มีขึ้น หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 7 ครั้งนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 จนถึงเดือนมกราคม 2566
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)