ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' เร่งแก้ปัญหาผังเมือง เปิดพื้นที่เพิ่ม 'นิคมฯ' อีอีซี (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า EEC มีเม็ดเงินมหาศาลจากภาครัฐและเอกชนที่ลงไปเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าแหลมฉบัง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ถนนมอเตอร์เวย์ และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาให้พื้นที่ 3 จังหวัด ใน EEC ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งความต้องการพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมใน EEC ที่เพิ่มขึ้นทำให้ปัจจุบันพบข้อจำกัดของการจัดทำพื้นที่เพื่อประกอบการอุตสาหกรรมที่เหลือน้อยลงและทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น รวมทั้งตามแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ผัง EEC) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม (สีม่วง) อยู่ที่ 424,854 ไร่คิดเป็นพื้นที่ 5.12% ของพื้นที่ทั้งหมด 8.29 ล้านไร่ ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ในการเปิดพื้นที่ "สีเหลือง" ตามแผนผัง EEC ซึ่งเป็นที่ดินประเภทชุมชนชนบท โดยเป็นพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจชุมชนรวมพื้นที่ 2.07 ล้านไร่ ในการแบ่งบางส่วนมากำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ที่สามารถใช้เพื่อการตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยในเบื้องต้นได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาประเด็นผังเมือง ระบุเขตที่ดินที่สามารถกำหนดเป็นพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ภายใต้กฎหมายของ กนอ. ซึ่งเป็นพื้นที่สีเหลืองตามแผนผัง EEC จากนั้นจะนำแผนผังดังกล่าวหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมจะเป็นข้อต่อรองที่รัฐบาลเสนอให้กับเอกชนผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม แลกกับการเปิดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับช่วงการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไทยได้ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันและพร้อมเชื่อมโยงเข้าสู่ซัพพลายเชนระดับโลก สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทยต้องการ Local Content หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ซึ่งการเปิดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้สำหรับส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางโดยเฉพาะ ก็เพื่อให้กลุ่มที่มีศักยภาพพร้อมจะขายของให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ได้มีพื้นที่ตรงนี้ในการเช่าใช้ในราคาถูก รวมทั้งได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ การกำหนดพื้นที่ ที่ส่งเสริมชัดเจนในเขตนิคมอุตสาหกรรมจะทำให้สามารถกำกับ และควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น ช่วยลดปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมที่แทรกซึมอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย ซึ่งบริหารจัดการได้ยาก

 

A person sitting at a desk with a microphone

Description automatically generated

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. 9 เดือนแรกปีนี้แห่ขอตั้งนิคมฯ 11 แห่ง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2567)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน) มีผู้ประกอบการขอจัดตั้งนิคมฯ แห่งใหม่ รวม 11 นิคมฯ รวมพื้นที่ 8,943 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กนอ. พิจารณาอนุมัติ อาทิ 1. โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 8 ที่เป็นการจัดตั้งใหม่) พื้นที่ 1,101 ไร่ 2. โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 3) จังหวัดชลบุรี (ส่วนขยาย) พื้นที่ 697 ไร่ และ 3. โครงการนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ 2 (จัดตั้งใหม่) พื้นที่ 1,302 ไร่ รวม 3 นิคมฯมีพื้นที่รวม 5,305 ไร่ หากเปิดดำเนินการได้ จะก่อให้เกิดมูลค่าลงทุน 480,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ล่าสุด กนอ.ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,059 ไร่ โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ซึ่งนิคมฯ ปิ่นทอง ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของ กนอ. ถือเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ขนส่ง, อุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 7 จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วยศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของนิคมฯ แห่งนี้ มั่นใจว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเพราะนิคมฯปิ่นทองโครงการต่างๆ ก่อนหน้านี้ถือว่ามีศักยภาพและประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

 

3. หอการค้าลุ้นส่งออกอาหารโกย 1.7 ล้านล. (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง (สิงหาคม - ธันวาคม) ปี 2567 ว่า คาดว่าจะมีมูลค่า 7 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมส่งออกอาหารปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.6-1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 1.55 ล้านล้านบาท เนื่องจากความต้องการสินค้าอาหารยังเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาวะอุตสาหกรรมโลกเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตโลกอยู่ในภาวะขยายตัว รวมถึงเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในการทำกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม) ปี 2567 สินค้าอาหารส่งออกของไทยมีมูลค่า 998,076 ล้านล้านบาท ขยายตัว 7.3% แบ่งเป็นสินค้าเกษตร 508,033 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.7% และสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร 490,044 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.9% สินค้าส่งออกดาวเด่นคือ ข้าว ขยายตัว 51% กาแฟ ขยายตัว 213% เป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 13.9% เนื้อและส่วนต่างๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้ ขยายตัว 3.8% สิ่งปรุงรสอาหารขยายตัว 16.7% นมและผลิตภัณฑ์ขยายตัว 26.6% หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสมขยายตัว 3.6% และโกโก้และของปรุงแต่งขยายตัว 13%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการส่งออกอาหารยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาสงครามอิสราเอล-ฮามาส และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อ, การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนนี้, ต้นทุนค่าระวางเรือที่ยังทรงตัวสูง, ปัญหาสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนเข้ามาทุ่มตลาดในไทยและแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในต่างประเทศ, ภัยธรรมชาติ และการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วโดยภายใน 1 เดือนเงินบาทแข็งค่า 7-8% ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าที่อื่นที่ถูกกว่าไทย จึงมีความเสี่ยงที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกไปอย่างถาวรหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่แก้ปัญหา นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกเพื่อรองรับการแข่งขันในระยะยาวเน้นให้ไทยเป็น Trading Nation รวมถึงแก้ปัญหาสินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาตีตลาดเอสเอ็มอีไทย

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าพุ่ง 14.4% ทะลุ 3.11 ล้านล้านเยนในครึ่งแรกของปีงบฯ 67 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2567)

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุดเดือนกันยายน ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 14.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 3.11 ล้านล้านเยน (2.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สาเหตุหลักมาจากเงินเยนอ่อนค่า ทำให้มูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น แม้การส่งออกจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม ทั้งนี้ กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดส่งออกพุ่งขึ้น 6.6% แตะระดับ 53.55 ล้านล้านเยน โดยได้แรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับวงการชิปที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่วนยอดนำเข้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยขยับขึ้น 7.0% มาอยู่ที่ 56.66 ล้านล้านเยน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการนำเข้าคอมพิวเตอร์และยาจากสหรัฐฯ โดยรายงานเบื้องต้นจากกระทรวงฯ เผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 ญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ถึง 4.30 ล้านล้านเยน แต่กลับขาดดุลการค้ากับจีน 3.06 ล้านล้านเยน

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เงินเยนอ่อนค่าลงถึง 9.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนเมษายน - กันยายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้เงินเยนที่อ่อนค่าจะทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากร ต้องแบกรับต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้บริษัทส่งออกของญี่ปุ่นได้กำไรเพิ่มขึ้นเมื่อนำเงินตราต่างประเทศแลกกลับเข้ามาเป็นเงินเยน ทั้งนี้ หากนับเฉพาะเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว ญี่ปุ่นยังคงขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยขาดดุล 2.943 แสนล้านเยน ส่วนการส่งออกหดตัวลง 1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 9.04 ล้านล้านเยน ในขณะที่การนำเข้ากลับเติบโตขึ้น 2.1% แตะระดับ 9.33 ล้านล้านเยน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)