ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' ชู 5 เครื่องมือ เซฟเอสเอ็มอี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของเอสเอ็มอี ในฐานะฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของไทย จึงได้กำหนดนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งเน้นการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ สู้ เพื่อจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ เซฟ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย และสร้าง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ดังนั้น จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส มุ่งเซฟเอสเอ็มอีไทย สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน ร่วมกับสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยผ่าน 5 แนวทาง ดังนี้ 1. ปกป้องเอสเอ็มอีไทยไทยจากคลื่นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติและการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ 2. ยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทยไทยให้สามารถแข่งขันได้และทันต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. ริเริ่มนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทย 4. ผลักดันการขับเคลื่อนมาตรการ "Made by Thais" และ "SME GP" และ 5. จัดตั้ง SME War Room เพื่อช่วยเอสเอ็มอีไทยไทยแก้ปัญหาให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด และความท้าทายต่างๆ เพื่อเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการยกระดับเอสเอ็มอี ไทยสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก ผ่านการผลักดันนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ฯ" และกลไกการดำเนินงานสำคัญตามที่ได้กล่าวไป กระทรวงอุตสาหกรรมมองเห็นอนาคตที่เอสเอ็มอีไทยจะเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรม เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ประกอบกับความร่วมมือ และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐและภาคเอกชน จะทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับการยกระดับให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด และความท้าทายต่างๆ เพื่อเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated

นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา

ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี

 

2. วาดฝันอุ้มเอสเอ็มอี 200 กิจการสู่ยุคดิจิทัล (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567)

นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กองทุนฯ ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีมอีผ่าน 2 โครงการ ที่ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อผลักดันเอสเอ็มอี 200 ราย ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเพิ่มรายได้ลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัล สู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ ที่เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทางธุรกิจตั้งเป้าหมายช่วยเหลือ เอสเอ็มอี 100 ราย ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การให้คำปรึกษาเชิงลึก แนะนำ    การปรับปรุงและเตรียมความพร้อม ก่อนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มรายได้หรือลดต้นทุน คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 54 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนความคุ้มค่าต่อต้นทุนถึง 8.4 เท่า โดยโครงการนี้ใช้งบ 5 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 – มีนาคม 2568 และ 2. โครงการยกระดับประสิทธิภาพ การผลิตเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 100 ราย ในอุตสาหกรรมดิจิทัลเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูปแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการใช้พลังงานสูงโครงการนี้ใช้งบ 5 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567-มีนาคม 2568 คาดว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพิ่มรายได้ คิดเป็นอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.6 เท่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 5,000,000 บาทเพิ่มรายได้และส่วนแบ่งการตลาด 2 ล้านบาท

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

 

3. 9 เดือน ส่งออกโต 3.9% สรท.ชี้เฝ้าระวัง 4 ปัจจัยเสี่ยง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567)

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน 2567 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,983.2 ขยายตัว 1.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาท เท่ากับ 889,074 ล้านบาท หดตัว 0.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัว 3.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,589.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 886,336 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 เกินดุลเท่ากับ 394.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกินดุลในรูปของเงินบาท 2,738 ล้านบาท ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม - กันยายน ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 223,176.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.9% และมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,957,895 ล้านบาท ขยายตัว 8.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออกในช่วงมกราคม - กันยายนขยายตัว 4.2%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 229,132.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,264,589 ล้านบาท ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กันยายน 2567 ขาดดุลเท่ากับ 5,956.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท306,694 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตไม่ต่ำกว่า 2% (ณ พฤศจิกายน 2567) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 1.1) ความการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า มาตรการกำแพงทางภาษี 1.2) สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ 2. ดัชนีภาคการผลิต Manufacturing PMI ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ 3. ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังส่งผลต่อต้นทุนภาคการผลิต 3.1) ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน 3.2) สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลเริ่มผ่อนคลายและปรับลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้า 3.3) ราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่องอาจมีการผันผวนเล็กน้อย 4. มาตรการทางการค้าที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิ 4.1) การยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย 4.2) EUDR เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นปี 2569 กระทบราคาและการส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red circle and black lines

Description automatically generated

 

4. เงินเฟ้อเกาหลีใต้เดือนต.ค. แตะ 1.3% ต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567)

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคม 2567 ของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดใน 45 เดือน และอยู่ต่ำกว่า 2% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนี CPI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนที่แล้ว เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนกันยายน โดยตัวเลขเดือนตุลาคม 2567 ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ซึ่งในเดือนนั้นดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.9% ทั้งนี้ สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% มาตั้งแต่เดือนเมษายน และลดลงต่ำกว่าอัตราเป้าหมายที่ 2% เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน โดยราคาสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และประมงโดยรวมเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ราคาผักเพียงอย่างเดียวพุ่งสูงขึ้น 15.6% เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

อย่างไรก็ตาม ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลง 10.9% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนตุลาคม 2567 เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน เพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนตุลาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนกันยายน โดยกระทรวงการคลังเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าเกาหลีใต้จะบรรลุอัตราเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้ภายในสิ้นปี 2567 และคาดว่าราคาในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 2.6%

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)