ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' นำทีมโรดโชว์ญี่ปุ่น ดึงลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2567 มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว (Tokyo) พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สิ่งแวดล้อม (MOEJ) เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เข้าพบ อาทิ โตโยต้า มาสด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮอนด้า อีซูซุ และมูราตะ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งการเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ถึงโอกาสทางธุรกิจ การลงทุน และความร่วมมือต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งทางรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในไทยสำหรับเอกชนญี่ปุ่นตามคำแนะนำและ ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

A person sitting at a desk writing on papers

Description automatically generated

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567)

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถโน้มน้าวจูงใจให้ประเทศคู่ค้า ผู้สนใจลงทุน ผู้สนใจซื้อสินค้าและบริการ นักท่องเที่ยว หรือผู้หาที่จัดงาน MICE ตัดสินใจเลือกประเทศไทย หรือ สินค้าและบริการของไทยผ่านการส่งสารโดยอาศัยพลังทางอ้อม หรือ Soft Power ที่ไม่ใช่การพูดหรือโฆษณาโดยตรง แต่เป็นการสื่อสารว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน น่าใช้ชีวิตคนไทยเป็นคนน่ารัก มีศิลปะและวัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อน มีความใส่ใจในสินค้าคุณภาพในทุกๆ ช่องทางการสื่อสาร ทั้งนี้ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ช่วงแรกจะเน้นการพัฒนาการสื่อสารพลังทางอ้อมนี้ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ 1) ละคร/ภาพยนตร์ 2) แฟชั่น 3) อาหาร 4) งาน festival 5) กีฬามวยไทย ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใสผนวกกับนโยบายการเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ในด้านการสร้างรายได้และการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม ดีพร้อมได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตามแนวคิด Fun & Freedom แฟชั่นไทย ใส่ยังไงก็สนุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติพูดถึงประเทศไทย จึงได้มีแนวคิดในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมถึงเทคนิคและเครื่องมือการโน้มน้าวและสื่อสาร สร้างกระแสให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักผ่านการสื่อสารพลังทางอ้อมของประเทศไทย อาทิ การสร้างคอนเทนต์ การเล่าเรื่อง การสร้างแบรนด์ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงและบูรณาการ Soft Power ข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างกระแส Soft Power ด้านแฟชั่น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

 

3. 'พิชัย' นำทีม BOI โรดโชว์จีน ดึงลงทุนแบตเตอรี่-อิเล็กทรอนิกส์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะนำคณะ BOI พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน เดินทางไปโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะพบหารือกับนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และยกระดับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ในวาระที่จะครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 พร้อมผนึกกำลังองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade : CCPIT) และ Bank of China จัดงานสัมมนาใหญ่ "Thailand- China Investment Forum 2024" ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เป็นต้น โดยภายในงานสัมมนา นายพิชัย และเลขาธิการ BOI จะนำเสนอศักยภาพและโอกาสการลงทุนในไทย รวมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ จะมีผู้บริหารจากภาคเอกชนชั้นนำร่วมบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จของการทำธุรกิจในไทย เช่น Bank of China,บริษัท Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะรายใหญ่ มีการลงทุนในไทยรวมกว่า 16,000 ล้านบาท, บริษัท Westwell Technology ผู้นำด้าน AI และ Digital Green Logistics โดยได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ยกระดับธุรกิจต่างๆ เช่น การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะในไทย อีกทั้งมีผู้แทนภาคเอกชนไปร่วมออกบูธให้ข้อมูลด้านการลงทุนและโอกาสการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทไทย ประกอบด้วยกลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคม WHA, TRA, TFD, เอส, โรจนะ และนิคม 304

อย่างไรก็ตาม ไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตหลักของจีนในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้มีคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากจีนเข้ามาสู่ไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) กิจการ Data Center และ Cloud Service สำหรับการเยือนจีนครั้งนี้จะเน้นดึงการลงทุนในกลุ่มแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชน และต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้เข้ามาลงทุนแล้ว โดยจะเชิญชวนให้นักลงทุนจีนพิจารณาการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศด้วย ทั้งนี้ ในปี 2566 มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 416 โครงการ เงินลงทุน 158,121 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ 9 เดือนแรกปี 2567 จีนขอรับส่งเสริม 554 โครงการ เงินลงทุน 114,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ข่าวต่างประเทศ

A blue flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. ยอดขายรถยนต์ใหม่ในยุโรปทรงตัวในเดือนต.ค. เซ่นพิษดีมานด์ลด-ต้นทุนการผลิตสูง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567)

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป (ACEA) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ในยุโรปทรงตัวในเดือนตุลาคม 2567 หลังจากลดลง 2 เดือนติดต่อกัน ในขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) มีความคืบหน้าในเดือนตุลาคม โดยยอดขายรวมในสเปนและเยอรมนีเพิ่มขึ้น 7.2% และ 6% ตามลำดับ ซึ่งได้ช่วยชดเชยยอดขายที่ลดลงในฝรั่งเศส, อิตาลี และอังกฤษ ทั้งนี้ ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ผลิตยานยนต์ในยุโรปกำลังเผชิญกับอุปสงค์ที่ลดลง, ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และความท้าทายในการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะเดียวกันก็เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน

อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนรถยนต์ใหม่ที่มีการจดทะเบียนในเดือนตุลาคม 2567 ในสหภาพยุโรป (EU), อังกฤษ และสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ 1.04 ล้านคัน ส่วนยอดขาย BEV เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 6.9% ในเดือนตุลาคม ขณะที่ยอดขาย HEV เพิ่มขึ้น 15.8% โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ใน EU, อังกฤษและ EFTA เพิ่มขึ้น 12.6% ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ของสเตลแลนติส (Stellantis) ลดลง 16.7% และของเรโนลต์ (Renault) ลดลง 0.4% ส่วนยอดขายรถ EV ของเทสลา (Tesla) ลดลง 23.1% และยอดขายของเอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) ของจีนก็ลดลง 10% เช่นกัน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)