ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'มูราตะ' ลงทุนเพิ่มในไทย สร้างโรงงานผลิต MLCC แห่งใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2567 ได้มีโอกาสประชุมหารือร่วมกับ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก และได้ดำเนินกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน ซึ่งจากการหารือได้ทราบว่ามูราตะประกาศลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน โดยอาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้จะใช้ผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors :MLCC) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะที่ใช้เพิ่มความเสถียรในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์ และดาวเทียม ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40% ทั้งนี้ เมื่อโรงงานผลิตแห่งใหม่แล้วเสร็จ จะเสริมให้มูราตะมีฐานการผลิต MLCC ในต่างประเทศ 4 แห่ง คือ เมืองอู๋ซี ประเทศจีน, ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ในเมืองฟูกูอิ และอิซูโมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมูราตะมีการวางแผนขยายกำลังการผลิตปีละ 10% โดย 10 ปีที่ผ่านมามูราตะได้ขยายกำลังการผลิต MLCC กว่า 3 เท่า เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเติบโตทั้งระยะกลางถึงระยะยาวที่มีความต้องการชิ้นส่วน MLCC ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้งานของสมาร์ทโฟนที่ใช้เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่อส่วน อุปกรณ์ IoT ที่มากขึ้น ทั้งนี้ มูราตะถือเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดลำพูน เมื่อ 35 ปีที่แล้วและมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือคิดเป็น 40% ของมูลค่าการลงทุนในจังหวัดลำพูน สร้างการจ้างงานกว่า 4,000 ตำแหน่ง โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูราตะเลือกมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือของไทยได้แก่ ปัจจัยด้านแรงงาน ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าแรงที่ถูกกว่าพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมทั้งไม่มีมีปัญหาในการแย่งชิงแรงงานและปัจจัยด้านการขนส่ง เนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีน้ำหนักเบา จึงมีต้นทุนการขนส่งต่ำและใช้การขนส่งทางอากาศได้ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับหนึ่งในการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทย โดยมีบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนสูงถึง 1,973 ราย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 29% ของจำนวนนักลงทุน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหารและยาง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า มูราตะได้ร่วมกับกนอ.ในการเปลี่ยนแปลงสภาพในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568 และจะดำเนินการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นเขตประกอบการเสรี และการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2570 ขณะเดียวกันมูราตะยังมีแผนที่จะขยายการลงทุน สร้างโรงงานขนาดใหญ่อีก 2 โรงงาน พื้นที่รวม 120,000 ตารางเมตร ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูนเพื่อผลิต MLCC โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570
นายภาสกร ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. ทั้งปีดัชนี MPI วูบ 1.6% เหตุกำลังซื้อต่ำ-สินค้านำเข้าทะลัก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.75% ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 1.63% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.72% โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาขาดกำลังซื้อ ภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่า และความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งสหรัฐ โดยยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเงิน 10,000 บาท เฟสแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการและการผลิตรองรับสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง" โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง เนื่องจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และพื้นที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง ทางด้านความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากความคาดหวังถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ซบเซาและญี่ปุ่นที่เริ่มชะลอตัวส่วนในสหรัฐอเมริกามาจากความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม สศอ. มีการปรับประมาณการปี 2567 โดยคาดว่าดัชนี MPI หดตัว 1.6% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1.0% และได้ประมาณการปี 2568 โดยคาดว่าดัชนี MPI จะกลับมาขยายตัว 1.5 - 2.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 1.5 - 2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการขยายการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐผ่าน การลงทุนขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ซึ่งอาจจะกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และกำลังซื้อ โดยเฉพาะตลาดในสหภาพยุโรป ความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจจะกระทบต่อการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและความต้องการซื้อในสินค้าต่างๆ ที่สำคัญได้
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ส.อ.ท.หั่นเป้าผลิตรถอีก 2 แสนคัน ตลาดในประเทศลดลงสุดรอบ 54 เดือน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567)
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ปรับตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลดลง 200,000 คัน จาก 1,700,000 คัน เป็น 1,500,000 คัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิต เพื่อจำหน่ายในประเทศลงจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน และการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1,150,000 คัน เป็น 1,050,000 คัน ทั้งนี้ ถือเป็นการปรับลดลงของตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ครั้งที่ 2 จากรอบแรกที่ปรับไปแล้ว 200,000 คัน เท่ากับว่าปี 2567 นี้ปรับลดลงถึง 400,000 คัน จากเป้าหมายแรกตั้งแต่ต้นปีตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน เนื่องจากยอดขายในประเทศปรับลดลง จากการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน โดยยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม 2567) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,246,868 คัน ลดลงจากปีก่อน 19.28% รวมทั้งยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 4.69% อยู่ที่ 861,916 คัน และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 39.89% อยู่ที่ 384,952 คัน ส่วนยอดผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2567 มีทั้งสิ้น 118,842 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.13% เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 7% อยู่ที่ 87,741 คัน และการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 51.70% อยู่ที่ 31,101 คัน ทังนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 37,691 คัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 36.08% ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่ยกเลิกล็อกดาวน์จากการระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์เป็นหลัก ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ในไตรมาส 3 ของปี 2567 มี 6,365,571 บัญชี ลดลงจากปีก่อน 199,655 บัญชี คิดเป็น 3.0% และลดลงจากไตรมาสก่อน 75,377 บัญชี คิดเป็น 1.2% มีจำนวนเงินหนี้รถยนต์ 2,465,204 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5.8% โดยเฉพาะรถบรรทุกลดลงจากเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอ เติบโตในอัตราต่ำ และหนี้ครัวเรือนสูง ดัชนีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำที่ 0.1% ในไตรมาส 3
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์คงต้องรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากเร่งส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงตามคำขอส่งเสริมการลงทุนที่มากสุดในรอบ 10 ปี เชื่อว่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยกลับมาเติบโตได้ปีละ 4-5% อีกครั้ง ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนการจัดงานมอเตอร์โชว์ในช่วงปลายปี 2567 นี้ ก็เชื่อว่าจะกระตุ้นยอดขายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทุกครั้งจะมียอดจองเกินเป้าหมาย แต่ยังกังวลว่ายอดปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอาจไม่เป็นไปตามยอดจอง
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3% ในเดือนต.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567)
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 3% ในเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 1.3% ในเดือนตุลาคม รายงานของกระทรวงระบุว่า ดัชนีการขนส่งในภาคการผลิตปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และปรับตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนดัชนีสต็อกสินค้าคงคลังในภาคการผลิตปรับตัวลง 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน และปรับตัวลง 1.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.9% ในไตรมาส 3/2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันสองไตรมาส และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.7% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของตัวเลข GDP นั้น ปรับตัวขึ้น 0.9% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% โดยการใช้จ่ายในภาคเอกชนถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)