ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนธันวาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. อุตลั่น 3 ปี ชูไทยมุ่งสู่ 'ฮับโกโก้' โกยรายได้เพิ่ม (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงมีแผนเดินหน้าประเทศไทยสู่ฮับโกโก้ของอาเซียน สนองยุทธศาสตร์ผู้นำแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนของรัฐบาล โดยมีแผนระยะ 3 ปี เชื่อมโยงกับซอฟต์พาวเวอร์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) รุกพัฒนาผู้ประกอบการโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านการพัฒนาในแต่ละภูมิภาคก้าวสู่การเป็นสินค้า GI เพื่อตอกย้ำการเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่เน้นความโดดเด่นในเชิงคุณภาพและอัตลักษณ์ทางรสชาติ โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการสร้างรายได้และเป็นการกระจายมูลค่าเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะ "เกษตรอุตสาหกรรม" โดยจะมุ่งสนับสนุนทั้งพืชเศรษฐกิจเดิมและพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโกโก้ที่สามารถสร้างมูลค่าตั้งแต่ผลสด เมล็ดแห้ง และการแปรรูป ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอีกกว่า 8 พันล้านบาท พร้อมชูต้นแบบความสำเร็จ โกโก้วัลเล่ย์ ธุรกิจโกโก้ครบวงจรตั้งแต่การปลูก แปรรูป การสร้างแบรนด์ และแหล่งท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนโดยรอบกว่า 300 ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่โกโก้เริ่มได้รับความนิยมในไทย ยังเป็นแรงจูงใจในหลายด้าน เช่น โมเดลธุรกิจคาเฟ่ ท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร รวมถึงการจ้างงานในชุมชนที่มากขึ้น ทั้งนี้ ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีผลผลิตโกโก้รวมทั้งหมด 1,016.78 ตัน

 

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. ก.อุตฯ เปิดแผนแก้ฝุ่นพิษ 3 ระยะ ชง 'บีโอไอ' เว้นภาษีเงินได้ 120% (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2567)

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ร่วมประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ประจำปี 2568 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมกองพลทหารราบที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยกระทรวงฯ มีมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ระยะเร่งด่วน ได้แก่ 1. ผลักดันนโยบายการตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อย ลดฝุ่น PM2.5 2. สนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืม นำไปใช้สางใบอ้อยทดแทนแรงงานคน 3. การยกเว้นอากรศุลกากรการนำเข้าสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร 4. การชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อย 5. ดำเนินการร่วมกับบีโอไอเพื่อขอรับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 120% ของเงินลงทุน กรณีโรงงานน้ำตาลลงทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อสนับสนุนลดฝุ่นละออง PM2.5 จากภาคการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกร และ 6. นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อติดตามและลดการเผาอ้อย ส่วนในระยะยาว ได้แก่ 1. การกำหนดปริมาณมาตรฐานในการผลิตน้ำตาลทรายขั้นต่ำของโรงงาน 2. กำหนดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบ เผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2567/2568 ไม่เกิน 25% 3. มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/2568-ปี 2569/2570 และ 4. มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 (แผน 3 ฤดูการผลิต)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ มุ่งมั่นเร่งขับเคลื่อนมาตรการที่เกี่ยวข้องและผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนอากาศที่สะอาดให้กับประชาชนและสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated

น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)

 

3. DIPROM เดินหน้า ยกระดับเอสเอ็มอี หนุนการใช้ดิจิทัล เพิ่มยอดขาย-ลูกค้า (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2567)

น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า DIPROM ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "Scale Up Social Commerce" กิจกรรมการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ด้านนวัตกรรมการตลาดออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ SMEs เพิ่มความรู้ ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัล และสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มยอดขาย ขยายฐานลูกค้า และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงจาก Industry 4.0 เป็นยุคที่มีการใช้งานผสมผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวโน้มของ Industry 5.0 คือ แนวคิดมนุษย์และเทคโนโลยีดิจิทัลทำงานร่วมกันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจทุกภาคส่วนต้องปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม สำหรับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ นายยุทธนา เทียนธรรมชาติ นายศุภกร สินธุธาน และนายเกียรติกร เทียนธรรมชาติ วิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับTikTok , Facebook และ Line OA โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจตลาดออนไลน์ให้เติบโตด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ารับการฝึกอบรมกว่า 50 ราย

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a white circle in the center

Description automatically generated

 

4. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของอินเดียชะลอตัวในเดือนพ.ย. จากแรงกดดันเงินเฟ้อ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2567)

เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของอินเดีย ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 56.5 ในเดือนพฤศจิกายน จาก 57.5 ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 57.3 ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งดัชนี PMI ภาคการผลิตของอินเดียเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 50 มาเกือบสามปีครึ่งแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของดัชนีย่อยด้านผลผลิตและด้านคำสั่งซื้อใหม่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดและเกือบต่ำสุดของปีนี้ตามลำดับ แม้การขยายตัวจะช้าลงจากการแข่งขันและแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ด้วยอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง การฟื้นตัวจึงยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับสินค้าที่ผลิตในอินเดียได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยอุปสงค์จากต่างชาติขยายตัวเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ระหว่างประเทศแข็งแกร่งในวงกว้างสะท้อนจากยอดสั่งซื้อส่งออกใหม่ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 4 เดือน ซึ่งช่วยหนุนให้ภาคการผลิตอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอุปสงค์ที่อยู่ในระดับสูงประกอบกับการขยายกำลังการผลิตส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจในปีหน้าสดใส ดันดัชนีย่อยทะยานแตะจุดสูงสุดในรอบ 6 เดือน แต่ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรง ทั้งต้นทุนและราคาขายปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนพุ่งแรงที่สุดนับจากเดือนกรกฎาคม ขณะที่ราคาขาย ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)