ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. กนอ.จับมือมณฑลอานฮุย ผลักดันการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการความร่วมมือไทย-จีน "Two Countries, Twin Parks" ระหว่าง กรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายหยาง เปิ่นชิง รองอธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งนี้ ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจทั้งสองประเทศมีความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีนักลงทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมของไทยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งการลงนามครั้งนี้มุ่งหวังสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ส่งเสริมการค้าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนและการค้าสองทาง ร่วมมือวิจัยพัฒนาและผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เช่น พลังงานใหม่, วัตถุดิบใหม่, อาหารปลอดภัย) เปิดระเบียงการค้าระหว่างประเทศ โดยพร้อมอำนวยความสะดวกทางศุลกากร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนจีน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือไทย-จีน "Two Countries, Twin Parks" เป็นการสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-จีน ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiatives : BRI หรือ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" โดยมุ่งเน้นสร้างแพลตฟอร์มการลงทุน การค้า และการให้บริการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน มั่นใจว่า MOU ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการชักจูงนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มขึ้น
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM)
2. DIPROM จับมือจังหวัดโคจิร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2567)
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ต้อนรับ นายโอคาดะ ทาดาอากิ อธิบดีกรมการค้าอุตสาหกรรมและแรงงาน จังหวัดโคจิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งคณะ ที่ได้เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะและประชุม หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจังหวัด โคจิและดีพร้อม โดยจังหวัดโคจิเป็น 1 ใน 4 จังหวัดของภูมิภาคเกาะชิโกกุ มีธรรมชาติรายล้อม ทั้งภูเขา ทะเล และแม่น้ำ ทำให้มีชื่อเสียงด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมป่าไม้ มาเป็นเวลายาวนาน มีพืชเศรษฐกิจ คือ ส้มยูซุ และมะเขือเทศ รวมทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านการทำประมงและปลาทูน่า ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดโคจิถือเป็นจังหวัดอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ที่มีการปลูกพืชโดยใช้โรงเรือนเกษตรแบบ Green House ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับ อุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ ได้ ทำให้ช่วยประหยัด พลังงาน และควบคุมคุณภาพของผลผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามจังหวัดโคจิก็ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบกับภัยทางธรรมชาติค่อนข้างบ่อย ทำให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาเทคโนโลยี ป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เทคโนโลยีเพื่อเตรียมการก่อนเกิดภัยพิบัติ 2. เทคโนโลยีสำหรับเผชิญภัยพิบัติ และ 3. เทคโนโลยีเพื่อการบรรเทาทุกข์หลังเกิดภัยพิบัติ โดยทั้งหมดนี้กำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศ เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยก็กำลังประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ดังนั้นหากทางจังหวัดโคจิสามารถที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการป้องกันภัยพิบัติมาสู่ประเทศไทยได้นั้น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทุกปี อีกทั้งยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วย ว่ากระบวนการผลิตจะไม่หยุดชะงักเนื่องจากปัญหาดังกล่าว โดยเป็นไปตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. บีโอไอไฟเขียว Foxsemicon ยักษ์ใหญ่ไต้หวัน ลงทุน 1 หมื่นล.ตั้งฐานผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) หนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำระดับโลก โดย Foxsemicon ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด มีมูลค่าเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โดยเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ในโลกของกลุ่ม Foxsemicon โดยก่อนหน้านี้มีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Foxsemicon เป็นบริษัทไต้หวันที่เป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร มีขีดความสามารถตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักร โดยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง และการผสมผสานระหว่างระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน โดยโรงงานในประเทศไทยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน เพื่อผลิตอุปกรณ์และโมดูลที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และในระยะเริ่มต้นจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น โดยจะเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นเผยความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ฟื้นตัวในไตรมาส 4/2567 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2567)
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ (ทังกัน) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 14 ในไตรมาส 4/2567 จากระดับ 13 ในไตรมาส 3/2567 โดยดัชนีทังกันปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสองไตรมาส ทั้งนี้ ดัชนีทังกันซึ่งเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นของบริษัทต่างๆ ในภาคการผลิต เช่น บริษัทในอุตสาหกรรมรถยนต์และบริษัทเทคโนโลยีนั้น อยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 12 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น ปรับตัวลงแตะระดับ 33 ในไตรมาส 4 จากระดับ 34 ในไตรมาส 3 โดยผลสำรวจของ BOJ ยังระบุด้วยว่า บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.4% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ดัชนี CPI จะเพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้น 2.2% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)