ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. "เอกนัฏ" ยัน พัฒนาอีอีซี ค่ายรถญี่ปุ่น ยึดไทยฐานผลิต (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อรองรับการลงทุน โดยมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมไทย เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการฟืนภาคอุตสาหกรรม ดันจีดีพีให้โตอย่างน้อย 1% ให้ได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ตนมอบให้กับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องทำงานควบคู่ไปกระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือ อีอีซี สำหรับเรื่องของที่ดินต้องดูที่ที่เหมาะสม ซึ่งหากไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่อีอีซี ทำอย่างไรให้ที่ดินที่อีอีซี มีพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานใหม่ๆ ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป พบว่า มีข้อจำกัดในเรื่องผังเมือง ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะมีการแก้ปัญหาด้วย การร่างผังการนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาเอง เพื่อไปต่อรองกับกระทรวงมหาดไทย และอีอีซี เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการขยายตัวของกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอย่างเหมาะสม เพราะถือเป็นจุดสำคัญ เป็นโอกาสสำคัญของประเทศ ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ เพื่อรองรับโอกาสตรงนี้ ก็จะไม่มีใครสนใจเข้ามาลงทุน และหากผลักดันเรื่องนี้ จะมีส่วนทำให้ภาค อุตสาหกรรมมีส่วนขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศโต 1% โดยที่ไม่ใช้เงินงบประมาณ แต่ใช้เงินจากบริษัทต่างชาติและการติดขัดในเรื่องการออกใบอนุญาตให้มีการประกอบการ ซึ่งตนได้แก้ปัญหาให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็น one stop service เป็นจุดเชื่อมต่อกับส่วนราชการอื่นทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม พร้อมกันนี้ ได้มีการเดินสายไปพูดคุยกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นทุกค่าย ได้รับข่าวดีว่า หลายค่ายยืนยันว่า จะรักษาฐานการผลิตในไทย และจะมีการลงทุนเพื่อสร้างฐานและอัพเกรดฐานการผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ และเมื่อกลับมาตนก็ไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยตนเอง เพื่อที่จะดูเรื่องโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สิทธิประโยชน์ที่จะได้ใหม่ ต่อไปก็ดึงให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยกำหนดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ถูกส่งต่อมายังธุรกิจคนไทย มาซื้อชิ้นส่วนของคนไทย รักษาการผลิตไว้ในประเทศ และมีการจ้างงาน และส่งต่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วย และพร้อมทำงานกับทุกกระทรวง
นายยุทธศักดิ์ สุภสร
ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
2. กนอ.ดึงเกาหลีปักหมุดไทย ลงทุนขยายธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2567)
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกับนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พร้อมด้วยคณะนักลงทุนเกาหลีใต้กว่า 20 ราย กนอ. โดยได้เน้นย้ำถึงแคมเปญ "Now Thailand -The Golden Era" เพื่อสื่อสารให้นักลงทุนเกาหลีใต้รับรู้ว่า "นี่คือยุคทอง โอกาสทองของการลงทุนในประเทศไทย ไม่มีเวลาใดที่ดีไปกว่านี้แล้ว" สร้างความเชื่อมั่นและพร้อมให้การสนับสนุนนักลงทุนเกาหลีใต้ในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมของไทย สำหรับการเยือนประเทศไทยของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนจริงในประเทศไทย โดยในการประชุมหารือ นักลงทุนเกาหลีใต้ได้แสดงความสนใจในหลากหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แสดงความชื่นชมต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กนอ. และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โดยต้องการให้ กนอ. ช่วยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อทราบกระบวนการและ แนวทางการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งธุรกิจผลิตรถบรรทุก EV มีความสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกในอาเซียน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเหล็ก พลังงาน และอื่นๆ โดยบริษัทที่มีฐานการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีแผนการขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการถ่ายโอนธุรกิจด้านพลังงานและอื่นๆ ในปี 2567 และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีการคาดการณ์มูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีนักลงทุนสัญชาติเกาหลีร่วมดำเนินการในธุรกิจต่างๆ เช่น พลังงาน และธุรกิจการแพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การเยือนของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกที่สำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาค รวมทั้งตอกย้ำความเชื่อมั่น ของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค โดย กนอ.พร้อมให้บริการและมีส่วนร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับนักลงทุนด้วยบริการที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการให้ข้อมูลเชิงลึก การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและภาษี การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ เพื่อให้นักลงทุนดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ รวมถึงการให้คำปรึกษา สนับสนุนด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
นายอภิชิต ประสพรัตน์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดีขึ้น เผยยังกังวลหลายปัจจัยลบ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2567)
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 91.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 89.1 ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี และก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม ประกอบกับภาค การส่งออก ขยายตัวเร่งขึ้น 14.6% (YOY) เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ประเทศคู่ค้าเร่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบล่วงหน้า เพื่อรองรับการผลิต เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้ง การอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้นทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,369 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 55.6% เศรษฐกิจโลก 50.2% ราคาน้ำมัน 38.8% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 38.1% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 31.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 30.9% ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวลดลงจาก 98.4 ในเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะ SMEs นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวันความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในพื้นที่ต่างๆ อาจส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกผันผวนและกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง War room เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ 2. เสนอให้ภาครัฐใช้กลไกการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (PAY BY SKILL) 3. เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และ 4. เสนอให้ภาครัฐปรับปรุงกลยุทธ์ในการเจาะตลาดต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้กลไก ทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อขยายโอกาสทางการค้า รวมถึงปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นส่งออกเพิ่มในเดือนพ.ย.รับเยนอ่อน แต่ยังขาดดุลการค้า 5 เดือนติด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2567)
กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การส่งออกของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกต่อผู้ส่งออก ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน นำโดยการส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปและโลหะที่ไม่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.5% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลง 3.8% นำโดยน้ำมันดิบ ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.176 แสนล้านเยน ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แม้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่การค้ามีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่มากนัก โดยอุปสงค์จากฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปยังคงซบเซาขณะที่ฝั่งจีนปรับตัวขึ้น จากการที่รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยมาตรการเชิงรุกต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาในเชิงปริมาณแล้ว การส่งออกแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยในรายงานระบุว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง 8% และการส่งออกไปยังยุโรปร่วงลง 12.5% ขณะที่การส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้น 4.1%
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาในวันนี้แสดงให้เห็นว่า ดุลการค้าของญี่ปุ่นยังคงขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งบ่งชี้ว่าสถานการณ์การค้าโดยรวมน่าจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยการค้าสุทธิก็เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2567 ด้วย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)