ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. เขตนวัตกรรมมูลค่าสูงยกระดับการแข่งขันประเทศ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมหารือกับ นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และเลขานุการกฎบัตรไทย และคณะผู้บริหาร เกี่ยวกับการร่วมผลักดันแผนพัฒนา "เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง" ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจนวัตกรรมและสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ เขตนวัตกรรมมูลค่าสูงเป็นแนวทางสำคัญที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ ยังช่วยกระจายโอกาสให้กับพื้นที่ต่างๆ ในการดึงดูดการลงทุนและพัฒนาศักยภาพของชุมชนในระดับพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงต้องอาศัยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนในทุกมิติ ทั้งการออกแบบนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษี การสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนา และการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ กระทรวงจะผลักดันให้โครงการเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงกลายเป็นโครงการนำร่องที่สามารถแสดงศักยภาพและเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศได้ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหารือในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศในการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นแกนหลักของเศรษฐกิจอนาคต โดยกระทรวงจะนำข้อเสนอนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผลักดัน แผนพัฒนา "เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง" เพื่อให้เป็นนโยบายระดับชาติที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเวทีโลกได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการหารือครั้งนี้ได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนา 6 กลุ่มยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูง อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร บริการสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ครบวงจร โดยแผนพัฒนานี้ยังมุ่งสร้างความเชื่อมโยงกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยระยะสั้นจะเน้นการวางโครงสร้างพื้นฐาน ระยะกลางขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการลงทุน และระยะยาวจะพัฒนาเขตนวัตกรรมให้เป็นต้นแบบระดับประเทศที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมครบวงจร โดยการหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการผลักดันเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. อุตฯ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน เสริมเงินทุนหนุนฮาลาลไทยส่งออก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2567)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารและการบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดมุสลิมที่มีประชากรจำนวนมากและมีแนวโน้มการบริโภคที่สูงขึ้นจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจการรับรองฮาลาล รวมทั้งการบริการที่ต้องมีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลตามมติคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรม "เรียนแล้ว รับรองได้ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น" ภายใต้แนวคิดสานพลังแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ ในการสานพลังแหล่งเงินทุนจะประกอบด้วย 8 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมการทดสอบ และการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้มีศักยภาพ สามารถเติบโต และแข่งขันสู่สากลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอด การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) วงเงิน 1,200 ล้านบาท และ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงิน 700 ล้านบาท และจะมีโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลวงเงิน 7 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า กรมฯ ได้สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลผ่านการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงเครือข่ายแหล่งเงินทุน เสริมแกร่งด้วยหน่วยงานส่งเสริมความรู้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ฮาลาลไทยทั่วประเทศให้เติบโตในตลาดสากลอย่างยั่งยืน กรมฯ มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (DIPROM Pay) เป็นต้น
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. NPL สินเชื่อรถยนต์พุ่ง เหตุเศรษฐกิจอ่อนแอ-เอกชนลงทุนต่ำ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2567)
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีทั้งสิ้น 117,251 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง 28.23% จากการผลิตส่งออกลดลง 20.67% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 40.42% และลดลงจากเดือนตุลาคม 2567 ที่ 1.34% โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,364,119 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 กว่า 20.14% สำหรับผลิตเพื่อส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2567 ผลิตได้ 80,022 คัน เท่ากับ 68.25% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ 20.67% ส่วนเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 ผลิตเพื่อส่งออกได้941,938 คัน เท่ากับ 69.05% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ระยะเวลาเดียวกัน 12.25% ส่วนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2567 ผลิตได้ 37,229 คัน เท่ากับ 31.75% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง 40.42% และเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 ผลิตได้ 422,181 คัน เท่ากับ 30.95% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 ที่ 33.48 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 42,309 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 ที่ 12.25% แต่ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ 31.34% จากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำที่ 3% ในไตรมาส 3/2567 แต่หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสสามปีที่แล้วหนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของ GDP ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้วรวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่งออกได้ 89,646 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว6.30% แต่ลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 10% เพราะปีที่แล้วฐานสูงและสงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายไปหลายพื้นที่ทำให้จำนวนเที่ยวเรือมารับรถน้อยลงรวมทั้งหลายประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศจีน ที่ชะลอตัวลง จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่งออกเพิ่มขึ้นตลาดอเมริกาเหนือแห่งเดียว ทั้งนี้ เมื่อรวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 83,857.79 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่ 13.05% โดยเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 942,717.96 ล้านบาทลดลงจากปี 2566 ที่ 1.37%
ข่าวต่างประเทศ
4. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือนพ.ย.หดตัว 2.3% ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2567)
ข้อมูลจากทางการญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2567 หดตัว 2.3% จากเดือนก่อนหน้า นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า จากรายงานเบื้องต้นของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้วของโรงงานและเหมืองแร่อยู่ที่ 101.7 โดยเทียบกับค่าฐาน 100 ในปี 2563 หลังจากที่มีการปรับลดตัวเลขการขยายตัวในเดือนตุลาคม เป็น 2.8% ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังคงประเมินภาวะการผลิตไว้ตามเดิม โดยระบุว่า "ยังผันผวนไม่มีทิศทางชัดเจน"
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ 15 ภาคอุตสาหกรรม พบว่า 11 ภาคส่วนมีผลผลิตลดลง นำโดยเครื่องจักรการผลิตและยานยนต์ ขณะที่ 3 ภาคส่วน รวมถึงเครื่องจักรอเนกประสงค์และเครื่องจักรเพื่อธุรกิจมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์เซรามิก หิน และดินเหนียวยังคงทรงตัว โดยผลสำรวจผู้ผลิตระบุว่า กระทรวงฯ คาดการณ์ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนธันวาคม และ 1.3% ในเดือนมกราคม ในส่วนของด้านดัชนีการจัดส่งสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนลดลง 2.7% อยู่ที่ 99.6 ขณะที่ดัชนีสินค้าคงคลังหดตัว 0.9% อยู่ที่ 101.4
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)