ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนมกราคม 2568

ข่าวในประเทศ

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

 

1. สอน. สั่งการโรงงานน้ำตาลรับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ จนถึง 12 ม.ค. 68 เพื่อเป็นของขวัญวันเด็ก (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 3 มกราคม 2568)

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อยเข้าหีบ 7 วัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 ซึ่งโรงงานน้ำตาลได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีส่งผลต่อการลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และทำให้อากาศสะอาดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ล่าสุดได้รับรายงานว่าเมื่อช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการลักลอบเผาอ้อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ซึ่งสอดคล้องกับความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มกลับขึ้นมาสูงอีกครั้ง สันนิษฐานว่า การลักลอบเผาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพื่อเตรียมการส่งเข้าหีบอ้อยในวันที่ 3 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่โรงงานน้ำตาลเริ่มกลับมาผลิตน้ำตาลทรายอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพและการประกอบอาชีพของประชาชนในวงกว้าง เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ทั้งนี้ การเผาไร่อ้อยนอกจากจะเป็นการกระทำผิดและฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังเป็นการเอารัดเอาเปรียบภาคธุรกิจอื่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างภาระให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากการเผาไร่อ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเป็นการเผาอ้อยยืนต้นที่มีความสูงราว 3 - 4 เมตรเพื่อเอาใบออก ซึ่งอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 10 ล้านตัน เทียบเท่าได้กับการเผาป่า 1 ล้านไร่ ทำให้ก่อมลพิษฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณสูงมาก สามารถคงค้างอยู่ในบรรยากาศเป็นระยะเวลายาวนานและแผ่ขยายได้ตามทิศทางลม จึงปกคลุมหนาแน่นทั่วพื้นที่ในบริเวณที่มีประชนชนอาศัยอยู่ทั้งในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนของทุกปี ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่ทวีความรุนแรงและส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนผู้หายใจอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อยเหล่านี้ จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันสอดส่อง จัดการและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรับผลกระทบจากเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ประกอบกับใกล้ถึงวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็ดให้กับเยาวชนไทยทั้งประเทศ โดยการคืน "ฟ้าใส ไร้ฝุ่น PM 2.5" ให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายวันชัย พนมชัย

เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

 

2. สมอ.คุมเหล็กเคลือบสีคุณภาพต่ำ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 2 มกราคม 2568)

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นเหล็กมุงหลังคาที่ผลิตจากเหล็กกล้าเคลือบสังกะสี (PPGI) และเหล็กกล้าเคลือบอะลูมิเนียมผสมสังกะสี (PPGL) คุณภาพต่ำไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีอายุการใช้งานสั้น เกิดสนิมเร็ว ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 ได้ยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานแล้ว มูลค่ากว่า 287 ล้านบาท ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ ทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าต่างประสบปัญหาสินค้าเหล็กคุณภาพต่ำเข้ามาจำหน่าย มีการแสดงรายละเอียดชั้นเคลือบสินค้าไม่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้เหล็กเกิดสนิมภายในระยะเวลาการใช้งานไม่นาน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ เป็นต้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น เหล็ก สายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หากไม่มีมาตรฐานอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ สมอ.จึงเสนอบอร์ดให้ควบคุมเหล็กทั้ง 2 ชนิด ซึ่งเดิมเป็นมาตรฐานทั่วไปให้เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งหลังจากบอร์ดมีมติเห็นชอบ สมอ. จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อประกาศให้เหล็ก PPGI และ PPGL เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2568

อย่างไรก็ตาม สำหรับเหล็กกล้าเคลือบสีที่ได้มาตรฐาน มอก.นั้นจะผ่านการทดสอบความเข็งแรง ทนต่อการกัดกร่อน ไม่เป็นสนิมง่าย มีอายุการใช้งานยาวนาน และมีสีสันสวยงาม อีกทั้งบอร์ดยังมีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานที่ สมอ.เสนอรวมจำนวน 33 มาตรฐาน เช่น เหล็กกล้าสำหรับยึดแผ่นฝ้าและแผ่นผนัง หม้อแปลงไฟฟ้า พาวเวอร์แบงก์ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่างๆ ทั้งนี้ ขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานทั้งทางออนไลน์และร้านจำหน่ายทั่วไป หากพบว่ากระทำผิดจริงจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ไม่มีการปล่อยผ่าน และไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายจุฬา สุขมานพ

เลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี

 

3. “อีอีซี” เปิดแผนพัฒนา “ท่าเรือจุกเสม็ด” ปั้น Home Port ดึงเอกชนร่วมทุนผุด Cruise Terminal หนุน “อู่ตะเภา” (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 2 มกราคม 2568)

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ อีอีซี มีแผนในการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังวัดชลบุรี โดยได้เตรียมตั้งงบปี 2569 วงเงินประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) จุดเสม็ดสำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ในรูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน (PPP EEC Track) โดยได้มีการหารือกับทางกองทัพ เรือเบื้องต้นแล้ว เพื่อขอใช้พื้นที่ทำโครงการฯซึ่งกองทัพเรือสามารถบริหารจัดการพื้นที่ และไม่กระทบกับการใช้งานในปัจจุบัน โดยอีอีซีจะประมูลคัดเลือกหาผู้ร่วมลงทุนในการปรับปรุงท่าเรือจุกเสม็ด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสม โดยอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 7 กิโลเมตรเท่านั้น มีถนนขนาด 2 ช่องจราจร เข้าออกสะดวก และสามารถขยายได้ รวมถึงจัดระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อจากท่าเรือจุกเสม็ดเพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองการบิน รวมไปถึงในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ชลบุรีฉะเชิงเทรา และระยอง สะดวกและใช้เวลาเดินทางไม่นาน ทั้งนี้ อีอีซี มีแนวคิดจะพัฒนาให้ท่าเรือจุกเสม็ดเป็นท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ รองรับเรือบรรทุกผู้โดยสารประมาณ 4,000-6,000 คน โดยจะออกแบบให้สามารถจอดเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ เพื่อเป็นทางเลือกให้สายเรือกำหนดเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยว ลักษณะเป็น Home Port ที่เป็นทั้งต้นทางปลายทาง และเป็นจุดสำหรับการขึ้น-ลงเสบียงเพื่อบริการบนเรือ ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในการให้บริการบนเรือ และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ หากประเมินจากหลักการให้บริการ เรือบรรทุก ผู้โดยสาร 4,000 คน จะต้องมีพนักงานและผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องประมาณ 1,000 คน ทั้งบริการด้านอาหาร การจัดการที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวก เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน ( PPP) เนื่องจากผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาท่าเรือสำราญควรเป็นผู้ประกอบการสายเรือ หรือประกอบธุรกิจเดินเรือท่องเที่ยว หรือมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะสามารถหาลูกค้าทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้โครงการประสบความสำเร็จ ในขณะที่การลงทุนโครงการนี้จะไม่สูงมากนัก เนื่องจากปัจจุบันท่าเทียบเรือจุกเสม็ด มีความพร้อมค่อนข้างมาก ทั้งพื้นที่หน้าท่า และความลึกร่องน้ำประมาณ 18 เมตร สามารถรองรับเรือขนาใหญ่ได้ เพียงแต่บริหารจัดการดูแลร่องน้ำเท่านั้น ดังนั้นเอกชนที่เข้ามาจะลงทุนในส่วนของการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร ทางเดินลงเรือ หรือสะพานเทียบเรือ และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่จะมากับเรือ และผู้คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในด้านการให้บริการ ทั้งนี้ อีอีซี วางเป้าหมาย แผนงานจะจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาและดำเนินการคัดเลือกเอกชน เพื่อพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) จุดเสม็ดให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้พร้อมกับสนามบินอู่ตะเภา เพราะโครงการนี้ จะเป็นส่วนที่จะช่วยสร้างดีมานด์เชื่อมสู่สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินได้อีกทาง

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red circle and black lines

Description automatically generated

 

4. PMI ชี้ ภาคการผลิตเกาหลีใต้หดตัวเดือนธ.ค. ผู้ประกอบการมองอนาคตแง่ลบ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 2 มกราคม 2568)

เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) เปิดเผยผลสำรวจภาคการผลิตเกาหลีใต้หดตัวในเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตแย่ลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 2563 อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และการเมืองภายในประเทศ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของเอเชีย ลดลงสู่ระดับ 49.0 ในเดือนธันวาคม จาก 50.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว สำหรับดัชนีย่อยด้านผลผลิตหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และหดตัวหนักกว่าเดือนก่อนหน้า ด้านคำสั่งซื้อใหม่ก็ลดลงเช่นกัน ผลสำรวจระบุว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอลงนั้นเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศที่ลดต่ำลง ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศเติบโตเพียงเล็กน้อย ส่วนความเชื่อมั่นของผู้ผลิตต่อแนวโน้มปีหน้าดิ่งต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ถึงมุมมองเชิงลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง นอกจากนี้ หากไม่นับช่วงโควิด-19 ก็จะถือว่าต่ำสุดตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในเดือนเมษายน 2555

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการมีมุมมองเชิงลบ ทั้งนี้ ทางด้านอุซามะฮ์ ภัตติ นักเศรษฐศาสตร์จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า อุปสงค์จากจีนและสหรัฐฯ อ่อนแอ แต่อุปสงค์จากตลาดยุโรปและบางประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ปรับตัวดีขึ้นช่วยชดเชยได้บางส่วน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)