ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2568

ข่าวในประเทศ

A person smiling at a microphone

Description automatically generated

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. “เอกนัฏ” เปิดงานเสวนาประจำปี สศอ. “OIE Forum” ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทย ดันดัชนี MPI ขยายตัวปี 2568 (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 10 มกราคม 2568)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี สศอ. (OIE Forum) ครั้งที่ 16 “Industrial Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงเผชิญกับบททดสอบและความท้าทายใหม่ๆ ของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หรือการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจที่อาจจะสร้างความปั่นปวนทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ก่อให้เกิดการแข่งขันและเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มขยายตัว 1.5 - 2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักที่เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการ การลงทุนภาครัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจภาพรวมให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผมพร้อมยกระดับและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ผ่านการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ก้าวข้ามข้อจำกัด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างการเติบโตให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

A person in a suit sitting at a microphone

Description automatically generated

นายพรยศ กลั่นกรอง

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

2. กรอ.จัดมาตรการ ขจัดมลพิษภาคอุตสาหกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 6 มกราคม 2568)

นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เข้าประชุมชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา กรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเลและมลพิษอื่นๆ จากภาคอุตสาหกรรม ในคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยมลพิษจากหอเผาทิ้งของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จ.ระยอง รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค เป็นต้น โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ชี้แจงถึงมาตรการควบคุมการระบายสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) จากภาคอุตสาหกรรม กำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มโรงกลั่นโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงปิโตรเคมีต้องตรวจสอบอุปกรณ์และระบบท่อเป็นประจำทุกปี รวมทั้งซ่อมบำรุงทันทีหากตรวจพบการรั่วไหล นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ขึ้นทะเบียนหอเผาทิ้งและถังกักเก็บสารอินทรีย์ระเหย โดยให้แจ้งแผนการหยุดซ่อมบำรุง รวมถึงการแจ้งการใช้หอเผาทิ้ง การเกิดควันดำและการประเมินปริมาณการระบายสารสู่บรรยากาศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการลดมลพิษ ทั้งนี้ ทางด้านคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอข้อคิดเห็นต่อการดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ ดังนี้ 1. ควรมีมาตรการติดตามการควบคุมการใช้หอเผาทิ้ง และนำบทลงโทษมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ 2. ควรพิจารณาแนวทางการลดการปล่อยมลพิษจากการซ่อมบำรุงประจำปีของโรงงานอุตสาหกรรม (Shutdown/Turnaround) โดยเหลื่อมช่วงเวลาในการซ่อมบำรุง ไม่ให้เกิดการปลดปล่อยและระบายสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) ออกมาพร้อมกันเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ และ 3. ควรพิจารณาแนวทางการเร่งขับเคลื่อนการใช้หอเผาทิ้งระบบปิด (Enclosed Ground Flare) ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยกว่าการใช้หอเผาทิ้งแบบดั้งเดิม (Elevated Flare)

อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ในการกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยจะนำข้อคิดเห็นของคณะ อนุกรรมาธิการฯไปดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายภาสกร ชัยรัตน์

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

3. ดัน 9 อุตฯ ปฏิรูปศก.ไทย 68 (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 10 มกราคม 2568)

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ปี 2568 สศอ.คาดการณ์เอ็มพีไอ และจีดีพีอุตสาหกรรม ระดับบวก 1.5-2.5% ซึ่งนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ สศอ.เร่งหารือบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อผลักให้เอ็มพีไอและจีดีพีอุตสาหกรรมให้ได้ตามเป้าหมาย โดยต้องเติบโตอย่างน้อย 1% พร้อมเพิ่มสัดส่วนจีดีพีอุตสาหกรรมจากปัจจุบัน 30% เพิ่มเป็น 40% โดยมีเกษตรอุตสาหกรรมเติบโตรวมอยู่ด้วย แม้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่จากนโยบายการทำงานของนายเอกนัฏ เชื่อว่าปีนี้จะผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตตามเป้าหมายและกลับมาเป็นพระเอกสำคัญในการผลักดันจีดีพีไทยปี 2568ทั้งนี้ ในปี 2568 อุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ภาครัฐ เช่น ภาครัฐให้เงินอุดหนุนค่าครองชีพ อีซี่ อี-รีซีท 2.0 และ 3. การขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม บรรจุภัณฑ์ ทั้งพลาสติก กระดาษ และโลหะ เป็นอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และ Hard Disk Drive ที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นไปตามโครงสร้างวัฏจักรของสินค้าที่เริ่มหมดอายุรับประกัน อีกทั้งมีความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่ม Data Centers ทำให้คำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 11 เดือนแรกที่ผ่านมาในปี 2567 ขยายตัวมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ สศอ.จะเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายนายเอกนัฏ ผ่านการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่สะอาด สะดวก โปร่งใส โดยจะจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เน้นหนักใน 9 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ เหล็กและโลหการ อาหาร พลาสติกและปิโตรเคมี ชีวภาพ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยกำหนดกรอบแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม กำหนดปัญหา อุปสรรค กำหนดเป้าหมาย ทิศทางการปรับโครงสร้าง กำหนดกลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย และกำหนดมาตรการสนับสนุน พร้อมดำเนินการระยะสั้น กลาง ยาว กำหนดมาตรการ โครงการระยะเร่งด่วน หรือควิกวิน ทั้งนี้ ตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรวม 9 อุตสาหกรรม จะกำหนดเป็นแผนใหญ่ โดยเดือนมกราคมนี้จะนำเสนอผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะนำเสนอมาตรการคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ หรือ กอช. เพื่อเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

Description automatically generated

 

4. สหรัฐขาดดุลเวียดนามกว่าแสนล้าน (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 9มกราคม 2568)

สำนักงานสถิติของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับเวียดนามพุ่งเกิน 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 เนื่องจากการส่งออกจากเวียดนามซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตขึ้นท่ามกลางการอ่อนค่าลงในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของสกุลเงินดองเวียดนาม เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการขาดดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่าเวียดนามซึ่งปกครองในระบบคอมมิวนิสต์มียอดดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐอเมริกา สูงสุดเป็นอันดับ 4 รองจากจีน, สหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่ายอดเกินดุลขนาดใหญ่นี้ เป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ท่ามกลางภัยคุกคามทั้งหลายจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สูงสุดถึง 20% ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น จากการที่เงินดองของเวียดนามอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเงินดองซื้อขายใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แนวโน้มดังกล่าวมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดในกรุงวอชิงตัน เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในหลายชาติที่ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบว่าอาจมีการบริหารจัดการค่าเงิน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)