ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ยอดใช้รถยนต์ EV ทั่วโลกพุ่ง 'ฉางอาน' ยันพร้อมลงทนในไทยเพิ่ม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 มกราคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีสเอเชีย จำกัด ได้นำคณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯ เข้าพบ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือแนวทางในการดำเนินกิจการของบริษัท ฉางอานฯ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าร่วมหารือด้วย สำหรับการเข้าพบหารือในครั้งนี้ คณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทย โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุน เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน สามารถที่จะรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV โมเดลใหม่ของบริษัท ฉางอานฯ เป็นอย่างดีซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสอดรับกับตลาดของผู้ซื้อทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่นิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท ฉางอานฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย โดยมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบสนับสนุนต่างๆ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากทุกประเทศ รวมถึงบริษัทฉางอานฯ ด้วย เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาต โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) เพื่อหารือเรื่องนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อการยื่นขอใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถคัดกรองใบอนุญาต เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกกระบวนงาน
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. ก.อุตโชว์พลังซอฟต์พาวเวอร์อาหาร รังสรรค์ 42 เมนู บูมศก.กว่า 100 ล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มกราคม 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ 3 ด้านหลัก ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านกลไกสำคัญ คือ OFOS (One family One Soft power) หรือ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์ พาวเวอร์เป้าหมาย 14 สาขา กระทรวงอุตสาหกรรมจึงสั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อมเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ใน 2 สาขา คือ อาหารและแฟชั่น ผ่านโครงการและแผนงาน ต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นอันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ขานรับนโยบานการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยใน 2 สาขา คือ อาหารและแฟชั่น ภายใต้นโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" มีแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยสาขาอาหารผ่านแผนงานและโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย (Local Chef Restaurant) ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เน้นการสร้างอาชีพและรายได้ในท้องถิ่นผ่านวัฒนธรรมอาหารถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ รังสรรค์เมนูอาหารที่พร้อมผลักดันให้เกิดเป็นเมนูอาหารพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ 42 เมนู อาทิ ยำชะครามกุ้งสด แกงรัญจวนปลากะพง จากจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย 540 ร้าน 2,160 คน ภายในระยะเวลา 4 ปี ปี 2567 พัฒนาแล้ว 40 ร้าน 160 คน ครอบคลุมภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2568 ดำเนินการต่อเนื่อง 100 ร้าน 400 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ คาดเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ปั้นอุตฯ อากาศยาน เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 มกราคม 2568)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย ONE FTI ซึ่ง ส.อ.ท. ได้มีการขับเคลื่อนและผลักดันให้ภาค อุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่อุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next Gen-Industries) ล่าสุด ส.อ.ท.ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 47 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน การเดินอากาศอัจฉริยะและอวกาศ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้รับการขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าให้พร้อมแข่งขันในตลาดสากล จึงเป็นความหวังในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดได้เร็วขึ้น โดยหนึ่งในนั้นคือ "อุตสาหกรรมอากาศยานไทย" ที่ประเทศไทยมีความพร้อม เพราะมีห่วงโซ่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมนี้เข้มแข็ง สามารถต่อยอดสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของโลก
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของประเทศไทย จึงได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานการเดินอากาศอัจฉริยะและอวกาศ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 47 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของประเทศ ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมโยงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมอากาศยานและการบินของไทย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค
ข่าวต่างประเทศ
4. แบงก์ชาติมาเลเซียประกาศคงดอกเบี้ย เชื่อมั่นเศรษฐกิจยังเติบโต-เงินเฟ้อไม่น่าห่วง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2568)
ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) เปิดเผยว่า ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งแรกของปี 2568 ในวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตได้ดี และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในปีนี้ ทั้งนี้ BNM ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% ในการประชุม ครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทั้ง 24 ราย จากผลการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งคาดว่า BNM จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี โดยนโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงเอื้อต่อเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและการเติบโตในปัจจุบัน ซึ่ง BNM ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มาเลเซียยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย แม้ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้วก็ตาม เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนภายนอก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศในกลางปี 2568
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)