ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'แจ้งอุต' รับปัญหาผ่านไลน์ดึง ปชช. ปราบโรงงานเถื่อน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เอาจริงเอาจังกับการนำเทคโนโลยี มาใช้เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้การประกอบกิจการเป็นเรื่องง่าย และเพิ่มความคล่องตัวสำหรับประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม หาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา "ทราฟฟี่ฟองดูว์" (Traffy Fondue) จัดทำช่องทางร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในชื่อ "แจ้งอุต" เป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มช่องทางแจ้งเรื่องและตามติดสถานะของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแบบทันใจ ยกระดับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้โปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "แจ้งอุต" สามารถสแกนผ่าน QR Code และ Link ร้องเรียน 6 ด้าน คือ 1. โรงงาน (ปัญหาโรงงานกลิ่นเหม็น/เสียงดัง/ฝุ่นละออง/ถนนและระบบสาธารณูปโภคนิคมอุตสาหกรรม) 2. อ้อย (ปัญหาเผาอ้อย/รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน) 3. เหมือง (ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) 4. มาตรฐานสินค้า 5. บริการอุตสาหกรรม (ร้องเรียนบริการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และ 6. ด้านอื่นๆ
นายภาสกร ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. พัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หนุนไทยขึ้นแท่น EV Hub เอเชีย-แปซิฟิก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.เตรียมจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ (Workshop) ในโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ : ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย โดยการสัมมนาจะจัดขึ้นในประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งจะเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้างเข้าร่วมพร้อมรองรับการเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยพัฒนาทักษะ เสริมสร้างนวัตกรรม และเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการสัมมนาสศอ.พร้อมด้วยคณะผู้แทนสถาบันยานยนต์ และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง มณฑลเหอเป่ย และนครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินกิจกรรมการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ขับเคลื่อนการเสริมสร้างสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม รวมถึงขยายเครือข่ายกับหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และระบบขับขี่อัตโนมัติระหว่างอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ทั้งนี้ จากการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนทำให้ได้ทราบถึงข้อมูลนโยบายด้านการพัฒนาและการจัดการห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ การผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ การบริการหลังการขาย รวมถึงการจัดการซากยานยนต์และชิ้นส่วนหลังจากหมดอายุการใช้งานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ซึ่งมีทั้งนโยบายออกไปลงทุนทำตลาดในต่างประเทศ และเน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในจีน โดยมีเป้าหมายในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอุปทานในฝั่งวัตถุดิบของชิ้นส่วนสำคัญ
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้จีนยังให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อมด้านโครงสร้าง พื้นฐานสำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ และระบบหัวชาร์จไฟที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงมาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้งานยานยนต์พลังงานสะอาดระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพในการผลิตและลดการใช้ทรัพยากร ตลอดจนระบบนิเวศของศูนย์ทดสอบและการรับรองมาตรฐานที่สามารถจำลองการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของรถยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของค่ายรถยนต์ต่างๆ ให้มีการทดสอบคุณภาพของยานยนต์และชิ้นส่วนให้สอดรับกับมาตรฐานของจีนและมาตรฐานสากล
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. ต่างชาติแห่ลงทุนไทยไม่หยุด (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 30 มกราคม 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนัดแรกของปี 2568 ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ว่าได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการสำคัญ มูลค่ารวมกว่า 170,000 ล้านบาท โดยเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Data Hosting ของบริษัทในเครือ TikTok Pte.Ltd. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ยอดนิยม โดยจะลงทุนติดตั้ง Server และอุปกรณ์ใน Data Center ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนรวม 126,790 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีกิจการ AI Cloud Service ของบริษัท สยามเอไอคอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น NVIDIA Cloud Partner (NCP) จะตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และปทุมธานี มูลค่าลงทุน 3,250 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการลงทุนผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่าลงทุน 40,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่าง Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย รวม 16 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท ในปีนี้ คาดว่าจะมีบริษัทชั้นนำระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และการเข้ามาลงทุนเหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค
ข่าวต่างประเทศ
4. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นขยายตัวแรงขึ้นแตะ 3.7% ในเดือนธ.ค. 67 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568)
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานตัวเลขเบื้องต้นว่า ยอดค้าปลีกเดือนธันวาคม 2567 เติบโต 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นมูลค่า 16.123 ล้านล้านเยน สูงกว่าเดือนก่อนที่เติบโต 2.8% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณายอดค้าปลีกเป็นรายหมวด พบว่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.7%, เครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 4.9% และเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 5.1% โดยในภาพรวม ยอดขายเชิงพาณิชย์เติบโตขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะที่ 57.219 ล้านล้านเยน ด้านการค้าส่งขยายตัว 3.5% มีมูลค่า 41.096 ล้านล้านเยน
อย่างไรก็ตาม หากเทียบเป็นรายเดือนโดยใช้ตัวเลขที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว ยอดค้าปลีกเดือนธันวาคม 2567 หดตัวลง 0.7% สวนทางกับเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่มขึ้น 1.9%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)