ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนเมษายน 2568

ข่าวในประเทศ

A person holding a microphone

AI-generated content may be incorrect.

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ไทยเดินหน้าฮับอุตสาหกรรมสีเขียว ผนึกกำลังธ.โลกช่วยภาคผลิตลดปล่อยคาร์บอน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 เมษายน 2568)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา "CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program" ว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สะอาด สะดวก โปร่งใส" โดยมีกลไกขับเคลื่อน 5 ประเด็น และภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ อาทิ การจัดการปัญหากากอุตสาหกรรม การลดมลพิษทางอากาศ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการยกระดับงานบริการ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมจึงพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน โดยภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยสามารถปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition to New Economy) โดยการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Greening Supply Chain) ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ (Low Carbon Industry) และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ทั้งนี้ ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้า Net Zero Emissions ภายในปี 2065 โดยการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว บังคับใช้เกณฑ์ใหม่ปี 2568 ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด นอกจากนี้ จะมีการประกาศใช้มาตรฐานลดก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐาน พัฒนาแนวทางให้สอดคล้องสากล และสร้างกลไกให้สถานประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนได้ง่ายขึ้น กำหนดมาตรฐานใหม่ 55 มาตรฐาน ส่งเสริมอุตสาหกรรม New S-Curve และขับเคลื่อนนโยบาย MIND (Move to Net Zero, Innovation, Digitalization) โดยมีเป้าหมายครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางสาวเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมากล่าวว่า การลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่วาระของอนาคตอีกต่อไปแต่มันกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และผู้ที่เป็นผู้นำจะเป็นผู้กำหนดยุคถัดไปของความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ธนาคารโลกรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพันธมิตรในการจัด CEO Forum และสนับสนุนประเทศไทยในการสร้างอนาคตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต ดึงดูดการลงทุน สร้างงาน และเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศไทยมีองค์ประกอบที่เหมาะสมทุกประการในการเป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และเจตนารมณ์ที่ชัดเจน โครงการเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Program) ที่รัฐบาลไทยและธนาคารโลกจะร่วมมือกัน จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมมีเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็รักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ด้วยการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ปี 2026 ที่กำลังจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยจะมีโอกาสในการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศและความมุ่งมั่นของภาคเอกชนต่อเวทีระดับโลก

 

A person sitting at a desk with a microphone

AI-generated content may be incorrect.

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการกนอ.

2. ชี้ 5.3 พัน รง. ไร้ผลกระทบ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 1 เมษายน 2568)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการกนอ. เปิดเผยว่า กนอ.ได้เร่งติดต่อและสอบถามผู้ประกอบการในนิคมทั่วประเทศ และได้ยืนยันว่าทั้ง 60 นิคมอุตสาหกรรม และ 1 ท่าเรือ ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยเป็นโรงงานทั้งหมด 5,375 โรงงาน โดย กนอ. ได้ประสานงานถึงความพร้อมในการเข้าช่วยเหลือทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นในโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาคารสำนักงานของบริษัทหลัก เพราะเห็นว่าการจะเดินหน้างานต่อไปได้ จะต้องไม่มีส่วนไหนสะดุด และยืนยันว่า กนอ. สามารถบริหารจัดการได้อย่างดี ซึ่งผ่านการตรวจสอบในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ การบำบัดน้ำเสีย สิ่งแวดล้อม และเรื่องท่อส่งก๊าซ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทริอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับท่อก๊าซน่าเป็นห่วงในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว แต่ได้รับการยืนยันว่ามีการจัดการที่ค่อนข้างดี จึงไม่ทำให้เกิดผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ กนอ. ที่ชัดเจนว่ามีความมั่นคงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการสอบถามมาถึง กนอ. อยู่บ้างถึงสถานการณ์แผ่นดินไหว แต่ก็ได้มีการตอบกลับไปถึงความมั่นคงและความพร้อมในการรองรับการลงทุน ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องแผ่นดินไหว ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย ในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว และมั่นใจว่าเรื่องการตัดสินใจลงทุนต้องตัดสินใจจากหลายปัจจัย ทำให้เป็นโอกาสที่สำคัญในการจะสร้างจุดแข็ง และสร้างความมั่นใจให้กับการลงทุน

 

A person in a suit and tie

AI-generated content may be incorrect.

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอรุกดึงอินเดียรายเป้า 3 กลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (ที่มา: ทันหุ้น, ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2568)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการนำคณะบีโอไอเยือนเมืองไฮเดอราบัด และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อพบหารือและเจรจาแผนการลงทุน เป็นรายบริษัทกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่อินเดียในอุตสาหกรรมยา และอุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวม 15 บริษัท สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ บีโอไอได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการอินเดียที่อยู่ในเขต Medical Device Park เพื่อนำเสนอข้อมูลการลงทุนและมาตรการสนับสนุนด้าน Medical Hub และยังได้หารือรายบริษัท เช่น บริษัท Sahajanand Medical Technologies (SMT) ผลิตอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอันดับ 1 ของอินเดีย มีแผนลงทุนในไทยเพื่อผลิตลิ้นหัวใจเทียมและอุปกรณ์ขดลวดถ่าง (Stent) สำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจและการทำบอลลูน และมีแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย รวมถึงบริษัท MSN Laboratories ผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก โดยมีแผนลงทุนทำวิจัยในไทย และขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน บริษัท ACG Capsules ผู้ผลิตแคปซูล ยาเม็ด และเครื่องจักรบรรจุยารายใหญ่ของโลก ได้ลงทุนสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท เพื่อผลิตแคปซูลจากเจลาตินและพืชด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีแผนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทยด้วย และบริษัท Natural Remedies ผู้ผลิตอาหารเสริมจากสมุนไพรสำหรับปศุสัตว์อันดับ 1 ของอินเดีย และอันดับ 3 ของโลก มีแผนลงทุนทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย และศูนย์วิจัยของบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ชั้นนำ เช่น ซีพี, เบทาโกร และสหฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสัตว์ ทั้งนี้ ทางด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คณะบีโอไอได้หารือกับบริษัท TATA Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย มีแผนรุกขยายธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รถบรรทุก และรถบัส) ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา โดยเพิ่งมีการดึงผู้บริหารชาวอินเดียจากค่ายรถยนต์ รายใหญ่ในประเทศไทย ให้ไปคุมทัพด้านการขยายธุรกิจรถยนต์นั่งของกลุ่ม TATA Motor ในต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คณะบีโอไอได้หารือกับนายกสมาคมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย (India Electronics and Semiconductor Association IESA) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 400 บริษัท นอกจากนี้ ยังได้หารือแผนลงทุนของ บริษัท Tessolve Semiconductor ซึ่งทำตั้งแต่การออกแบบชิป (IC Design)  การทดสอบชิป การออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการให้บริการอบรมด้านวิศวกรรมแก่บริษัทผลิตชิปชั้นนำของโลก โดยภายในปีนี้บริษัทมีแผนลงทุนจัดตั้งศูนย์ทดสอบชิปและให้บริการทางวิศวกรรมแก่บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทยด้วย ทั้งนี้ อินเดีย ถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดของโลก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหลายสาขา เช่น ยาและอุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และการเยือนอินเดียครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำให้นักลงทุนอินเดียมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพิจารณาเลือกไทยเป็นฐานการลงทุนหลักในอาเซียน

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

AI-generated content may be incorrect.

 

4. "ทรัมป์" ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้แล้ว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 เมษายน 2568)

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้มีการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในวันพุธที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อประกาศใช้ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tarrifs) โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ โดยจะมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ ในขณะที่จะเก็บภาษีตอบโต้เพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐฯ บางประเทศ ซึ่งรวมถึงจีนที่ถูกเรียกเก็บ 34%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24% และสหภาพยุโรป (EU) 20% ส่วนประเทศในอาเซียนถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ถ้วนหน้าเช่นกัน นำโดยกัมพูชา 49%, ลาว 48% เวียดนาม 46%, เมียนมา 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, บรูไน 24%, มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10% ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวระบุว่า ภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาลจะมีผลบังคับใช้ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568 ขณะที่ภาษีศุลกากรตอบโต้ซึ่งมุ่งเป้าไปที่คู่ค้าของสหรัฐฯ ประมาณ 60 ประเทศนั้น จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 9 เมษายน 2568

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้จะคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่สินค้าสหรัฐฯ ถูกเรียกเก็บจากคู่ค้าเหล่านั้น ทั้งประเทศคู่แข่งและพันธมิตร โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างงานเพิ่มในสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการภาษี "ตอบโต้" เป็นการตอบโต้ต่อภาษีที่เรียกเก็บกับสินค้าสหรัฐฯ และเชื่อว่าอัตราภาษีใหม่นี้จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการผลิตในสหรัฐฯ 

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)