ข่าวในประเทศ
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ
กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการผู้ว่าการ กนอ.
1. กนอ.โชว์ดึงลงทุน 17 ลล. เดินหน้า 4 แนวทาง ยกระดับอุตฯไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 เมษายน 2568)
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) ว่า กนอ.ยังคงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 192,747 ไร่ ที่ กนอ.ดูแลอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีมูลค่าเงินลงทุนสะสม 17.32 ล้านล้านบาท เป็นฐานที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม 5,375 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ได้แจ้งเริ่มประกอบกิจการแล้ว 4,535 แห่ง มีการจ้างงานรวมทั่วประเทศ 1,062,781 คน และ กนอ. ยังมีพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมขาย 23,662.45 ไร่ พื้นที่เสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 4,959 ไร่ รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะจัดตั้งหรือขยายในอนาคตอีก 27 โครงการ ในพื้นที่ EEC จำนวน 71,243 ไร่ ทั้งนี้ กนอ. มีเป้าหมายหลักเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในทุกมิติของภาคธุรกิจ ตั้งแต่การผลิต, การจัดการ ไปจนถึงการตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและลดผลกระทบต่อโลกใบนี้ โดยมีทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โดย กนอ.ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพ 2. การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน กนอ.มีเป้าหมายชัดเจนเรื่องส่งเสริม การใช้พลังงานหมุนเวียนในนิคมอุตสาหกรรม โดยมีแผนที่จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถติดตั้งและใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม และพลังงานชีวมวล เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศน์ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานขนาดใหญ่, SMEs, ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และขับเคลื่อนการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เสริมความแข็งแกร่งให้ SMEs เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างคุณค่าให้กับชุมชน และ 4. การสร้างระบบนิเวศน์ที่เกื้อหนุน กนอ. มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่ทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล โดยให้ความสำคัญกับการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ชุมชนโดยรอบ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมความเข้าใจและการทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม กนอ.กำลังวางรากฐาน Smart Park นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะโฉมใหม่แห่งอนาคตที่ให้ความสำคัญในการลงทุนระบบส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าที่เสถียร ควบคู่กับการพัฒนา Smart Grid บริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันเรายังเปิดประตูสู่พลังงานสะอาด การลงทุนในโครงการและนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนต่างๆ และไม่หยุดนิ่งที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการศึกษา และพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. เอกชนเร่งปรับตัวสู้กำแพงภาษีทรัมป์ จี้รัฐดูแลไฟแนน (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 18 เมษายน 2568)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐอเมริกาชะลอการปรับขึ้นภาษี 90 วัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีเวลาในการตั้งรับเพิ่มมากขึ้น เพราะยังไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าเมื่อครบตามระยะเวลาที่ผ่อนปรนดังกล่าวสหรัฐจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อ ซึ่งปัจจุบันการที่สหรัฐชะลอการเก็บภาษีออกไป ทำให้เกิดกระแสกลับด้าน จากเดิมที่ประเทศไทยจะต้องถูกเก็บภาษีนำเข้า 36% สำหรับช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสของไทย และทุกประเทศที่เป็นฐานการผลิต เนื่องจากจีนเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้รับการผ่อนปรน สหรัฐยังคงเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 145% เท่าเดิม ทำให้การจัดเก็บจะต่างกันมากกว่า 100% แม้กระทั่งเวียดนาม ไทย ก็ได้เปรียบจากภาษีที่ถูกจัดเก็บน้อยกว่าประมาณ 10% ซึ่งนี่คือภาพแรกที่อาจเกิดขึ้น ไทยยังโดนเก็บภาษี 36% เวียดนามโดน 46% จีนโดน 145% ไทยจะได้แต้มต่อจากเวียดนาม 10% และจีนมากกว่า 100% ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มีการย้ายฐานการผลิต แต่กรณีที่ไปเจรจาแล้วโดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนนโยบายเป็นเจรจารายประเทศ เช่น เวียดนามลดให้เหลือ 25% แต่ไทยไม่ลดก็จะกลับกัน กลายเป็นไทยเสียเปรียบเวียดนาม 10% หากภาพออกมาในลักษณะดังกล่าวก็คงจะไม่ดีอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนจะวางแผนและหารือกับภาครัฐก็คือ ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเงิน หรือไฟแนนซ์ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อาจจะต้องมีการตั้งวงเงินช่วยผู้ประกอบการในการส่งออก เพราะช่วงนี้อาจจะต้องซื้อวัตถุดิบมากเป็นพิเศษ เงินหมุนต้องใช้มาก เพื่อรองรับออเดอร์ช่วงสั้นใน 90 วัน ส่วนแผนที่จะรองรับต้องดูหลังวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ภาครัฐได้ไปเจรจากับสหรัฐ ซึ่งน่าจะทำให้พอจะเห็นสัญญาณว่าต้องทำอย่างไร
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. BOI ถอนสิทธิ 'ซิน เคอ หยวน' ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 17 เมษายน 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือถึงบีโอไอ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 แจ้งว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมฯ และ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีการประชุม เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว และมีมติให้เพิกถอนการใช้สิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราว โดยไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้ใช้ไปแล้วของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตเหล็กแท่ง (Billet) ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ 1235(2)/2556 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 โดยให้มีผลนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ จนกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะมีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานว่าอนุญาตให้บริษัทกลับมาดำเนินการผลิตได้ ทั้งนี้ หากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการประกอบกิจการโรงงานแล้ว สำนักงานจะนำเสนอคณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไป เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างที่กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นๆ ยังตรวจสอบรายละเอียดและดำเนินการตามกฎหมายไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็ก บีโอไอได้ยกเลิกการส่งเสริมเหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น และเหล็กข้ออ้อย มาตั้งแต่ปี 2543 ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ บีโอไอได้เฝ้าระวังและได้หารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับภาวะผลิตภัณฑ์เหล็กล้นตลาด และปัญหาการทุ่มตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กก่อสร้าง โดยในปีที่ผ่านมา บอร์ดบีโอไอได้ออกประกาศยกเลิกการส่งเสริมการผลิตเหล็กหลายประเภท เช่น เหล็กแท่ง เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ บีโอไอย้ำจุดยืนในการส่งเสริมกิจการที่มีความสำคัญต่อการสร้างซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจการที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่างๆ เช่น การจ้างงาน การพัฒนาบุคลากรไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนา การเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบในประเทศ การส่งออกเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของซัพพลายเชน รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
4. 'ดับบลิวทีโอ' หั่นการค้าโลกหดตัว 0.2% ฟิทช์ห่วงศก.แย่สุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 18 เมษายน 2568)
องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยว่า ได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกสำหรับปี 2568 จากขยายตัว 2.7% มาเป็น "หดตัวลง 0.2%" เนื่องจากความไม่แน่นอนของการค้าโลกจากนโยบายด้านภาษี ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากความคาดหวังในช่วงต้นปี โดยคาดว่าการค้าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นเป็นขยายตัว 2.5% ในปี 2569 ซึ่งการหดตัวของการค้าในปี 2568 จะแย่ลงอีกหากสหรัฐผลักดันให้มีการใช้ภาษีตอบโต้ในระดับที่สูงขึ้น "ภาษีตอบโต้และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ที่แพร่กระจายจะนำไปสู่การลดลง 1.5% ของการค้าสินค้าโลกในปี 2568" ถึงแม้ว่านโยบายปกป้องทางการค้าอาจเพิ่มการผลิตภายในประเทศ เพิ่มรายได้ และลดความไม่สมดุลทางการค้า ซึ่งทั้งสามข้อเป็นเป้าหมายที่ทรัมป์ระบุไว้ แต่ WTO ระบุว่า "ในระยะกลางถึงระยะยาว ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นมักจะมีผลกระทบทางลบ โดยรวมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า"
อย่างไรก็ตาม ทางด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติงส์ ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลก เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เหลือต่ำกว่า 2% ในปี 2568 ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยหากไม่รวมกรณี การระบาดของโควิด-19 การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะเติบโตได้น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หรือในช่วง ที่เกิดวิกฤติซับไพรม์ขึ้น ทั้งนี้ ฟิทช์ระบุในการอัปเดตแนวโน้มเศรษฐกิจโลกรายไตรมาสฉบับพิเศษว่า ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ลง 0.4% และปรับลดประมาณการการเติบโตของจีนและสหรัฐลง 0.5% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์เดิมในเดือนมีนาคม 2568
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)