ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. อุตฯ ร่วมมือ KTR ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ลงนามความร่วมมือด้านการมาตรฐานกับ Korea Testing & Research Institute (KTR) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการทดสอบและวิจัย ที่ดำเนินงาน ร่วมกับสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบรับรองในด้านความปลอดภัย โดยมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีสีเขียว และความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (BCG) แล้ว จำนวน 757 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์มือสอง ปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก ฉนวนกันความร้อน ฟิล์มติดกระจกประสิทธิภาพพลังงาน เครื่องย่อยสลายขยะชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ระบบสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์ กระจกสะท้อนแสง ยางล้อสูบลม และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านการมาตรฐานของไทยในระดับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 13 ของไทย โดยในปี 2567 มีมูลค่าการค้าทวิภาคี รวมกว่า 15,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 520,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.64% จากปี 2566 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งไปสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และน้ำตาลทราย รวมทั้งยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญอันดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการลงทุนรวม 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,325 ล้านบาท ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้าและวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี เครื่องจักรและยานพาหนะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับ KTR ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองในสาขาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดสัมมนาทางวิชาการ กระบวนการทดสอบ การฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานตามแนวปฏิบัติสากล รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามที่คู่ภาคีมีความสนใจร่วมกัน ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสองหน่วยงาน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการจัดประชุมวางแผนจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านการมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองต่อไป
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. ปั๊มเศรษฐกิจอีสานตอนบนพันล้าน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบในหลักการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร หรือที่เรียกกันในชื่อ "กลุ่มจังหวัดสนุก" ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ 2 โครงการสำคัญ (ใน 21 โครงการ) รวมงบประมาณทั้งสิ้น 113.4 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูงถึง 1,134 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการสนุกไรซ์พลัส "SNUK RICE PLUS" ในอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวมูลค่าสูง งบประมาณ 61.4 ล้านบาท มีเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวในพื้นที่ภาคอีสาน ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าว นอกจากนี้ จะมีการนำผลพลอยได้ (By-product) และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า เช่น แป้งรำข้าว ผลิตภัณฑ์จากแกลบ หรือเยื่อข้าว โดยการสร้างแบรนด์ "สนุกไรซ์" ให้เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค และ 2. โครงการบีฟวัลเลย์ "Beef Valley" งบประมาณ 52 ล้านบาท เน้นยกระดับอุตสาหกรรมโคเนื้อในกลุ่มจังหวัดสนุกให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปโคเนื้อที่มีมาตรฐานระดับโลก มีเป้าหมาย ในการพัฒนาคุณภาพเนื้อโคในทุกมิติ ตั้งแต่สายพันธุ์ วิธีการเลี้ยง การจัดการหลังการเชือด และการแปรรูป
อย่างไรก็ตาท นอกจากนี้ จะมีการสร้างแบรนด์ "SNUK Beef Valley" พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปโคเนื้อ เน้นเป็นคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการในพื้นที่ 200 คน 130 กิจการ 130 ผลิตภัณฑ์ และสร้างโมเดลต้นแบบ 3 กิจการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และจัดกิจกรรมด้าน การตลาดผ่านเทศกาลเนื้อ "สนุก Beef Festival" รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. จับคู่เจรจาธุรกิจชิ้นส่วนอุตฯ บีโอไอคาดเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เตรียมจัดงานนิทรรศการแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ "SUBCON Thailand 2025" ซึ่งถือเป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นงานใหญ่ประจำปีที่บีโอไอจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด "The Global Sourcing Excellence" เพื่อแสดงศักยภาพและความแข็งแกร่งของ Supply Chain ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และเชื่อมโยงผู้ผลิตไทยให้เข้าถึงโอกาสในการเชื่อมต่อกับบริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ และอากาศยาน พร้อมร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น "ศูนย์กลางการจัดซื้อและรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน"สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้เชิญผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศกว่า 500 บริษัท จาก 11 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ลักเซมเบิร์ก และไทย เข้าร่วมกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8,000 คู่ คาดว่าจะเกิดมูลค่าการเชื่อมโยงกว่า 20,000 ล้านบาท และจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 45,000 คน โดยจะมีการเปิดพื้นที่พิเศษ "xEV Sourcing Zone" ให้กับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ในระดับ Tier 1 จำนวน 10 บริษัท เพื่อนำเสนอนโยบายจัดซื้อ และจัดแสดงชิ้นส่วนที่ต้องการจัดซื้อภายในประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Tier 2 และ Tier 3 รวมทั้งพื้นที่แสดงศักยภาพการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าของ 2 ค่ายรถยนต์ ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยูและฉางอาน นอกจากนี้ บีโอไอจัดให้มีการสัมมนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย มากกว่า 20 หัวข้อ และเปิดเวทีสัมมนาพิเศษเรื่องทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในหัวข้อ "BOI SYMPOSIUM 2025: "Shaping the Future of xEV in Thailand: Opportunities for Innovation and Growth" พร้อมปาฐกถา เรื่อง "นโยบายและทิศทางการส่งเสริมการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนไทย สู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต (xEV)" โดยเลขาธิการบีโอไอ และเสวนา "ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน: โอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย ปรับตัวอย่างไรให้ตอบโจทย์ตลาดโลก" โดยผู้บริหารระดับสูงจาก 6 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนส์ บีเอ็มดับเบิลยู ฮอนด้า โตโยต้า เอ็มจี และฉางอาน มาร่วมเวทีครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การค้าโลกที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิต และการหาผู้ผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เพื่อปรับ Supply Chain ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับปัญหาการกีดกันทางการค้าได้ดียิ่งขึ้น ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่จะต้องเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมระดับโลกเหล่านี้ให้ได้ ผ่านการเร่งสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อรายใหญ่ รวมถึงการเรียนรู้ความต้องการของผู้ซื้อ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้เป็นที่ยอมรับและคว้าโอกาสใหม่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ข่าวต่างประเทศ
4. PMI ภาคบริการญี่ปุ่นเดือนเม.ย.กลับมาขยายตัว ยอดคำสั่งซื้อหนุน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2568)
au Jibun Bank เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่น พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 52.4 ในเดือนเมษายน จากระดับ 50.0 ในเดือนมีนาคม และสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 52.2 ถือเป็นภาพรวมที่ดีขึ้นของภาคบริการ สวนทางกับภาคการผลิตที่ยังคงดูอ่อนแอ ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว โดยการฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคบริการยังช่วยผลักดันให้ดัชนี PMI รวม ภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นสุดท้าย ดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 51.2 ในเดือนเมษายน จาก 48.9 ในเดือนมีนาคม ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าผลผลิตโดยรวมของภาคเอกชนในญี่ปุ่นได้กลับเข้าสู่ภาวะขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ธุรกิจใหม่ๆ ในภาคบริการก็เติบโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยบริษัทต่างๆ ให้ข้อมูลว่า ความต้องการของตลาดปรับตัวดีขึ้น สวนทางกับภาคการผลิตที่คำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลงเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางความวิตกเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐฯ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)