ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ลุยยกระดับอุตฯ ดิจิทัลไทยสู่ระดับสากล (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22พฤษภาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "ISO/IEC JTC 1/SC 7 Software and systems engineering ระดับนานาชาติ" ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีให้ไทยได้มีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลภายในประเทศ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศสาขาดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อม และลดอุปสรรคทางการค้าแก่ผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างเม็ดเงินจากเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งเร่งผลักดันภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีทั้งการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง cloud services และ data centers ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล ดังนั้น การที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงถึงศักยภาพของไทยในการยกระดับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และยังเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ให้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวจะมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก ISO เข้าร่วมกว่า 38 ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ มาเลเซีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อินเดีย และอิสราเอล เป็นต้น โดยภายหลังการประชุมในเดือนมิถุนายน สมอ.จะเตรียมการ ลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสำนักงานส่งเสริม เศรษฐกิจดิจิทัล และ ส.อ.ท เพื่อร่วมมือกันดำเนินการยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยสู่ระดับสากล โดยใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และร่วมกันขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลมากกว่า 100 มาตรฐาน ครอบคลุมหลากหลายสาขา เช่น ปัญญา ประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) บล็อกเชน ศูนย์ข้อมูล (Data Centers) และในปี 2568 นี้ จะมีการออกมาตรฐานในสาขาใหม่อย่างเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศในระยะยาว
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM)หรือดีพร้อม
2. 'ดีพร้อม' หารือ 'ก.พ.ร.' ตั้งกองพัฒนาเกษตรอุตฯ-ศูนย์วิจัย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2568)
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) หรือดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีการประชุมหารือการจัดทำ (ร่าง) คำชี้แจงการแบ่งส่วนราชการภายในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และคณะผู้บริหารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วม เพื่อเป็นการประกอบการจัดทำคำขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในการเสนอปรับโครงสร้างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมครั้งนี้ จะไม่มีการเพิ่มอัตรากำลัง แต่จะเป็นการเกลี่ยอัตรากำลังในทุกหน่วยงานภายใต้การสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถรองรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐบาล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการดำเนินงานที่รองรับด้านเกษตรอุตสาหกรรม โดย ในปี 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ดังนั้นในการจัดตั้งกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม จะเป็นการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานและการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยดังกล่าวให้บรรลุตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ รวมถึงจะมีบทบาทความรับผิดชอบด้านเกษตรอุตสาหกรรมที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยการพัฒนากระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทย ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้เสนอจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยตรง ซึ่งจะดำเนินงานตั้งแต่การวิจัย พัฒนาวัสดุ ตลอดจนวัสดุทดแทน วัสดุ ที่ผ่านการออกแบบ เพื่อพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถตอบโจทย์การใช้งานในอุตสาหกรรม สอดรับนโยบายที่มุ่งเน้นการปฏิรูปอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้มีความทันสมัย สะดวก สะอาด โปร่งใส ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ยังควบคู่ไปกับการดำเนินงานตามนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ส่งเสริมการสร้างและพัฒนาทักษะ พร้อมกับการมีเครื่องมือที่ทันสมัย ส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้ธุรกิจและชุมชนมีโอกาสในการเติบโตได้มากขึ้น อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ให้คำแนะนำ พร้อมชี้แนะแนวในทางการจัดทำ (ร่าง) คำชี้แจงการแบ่งส่วนราชการภายในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และเป็นไปตามกฎระเบียบ แบบแผนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) อย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. บีโอไอปลื้ม SUBCON ปิดดีลทะลุ 2.2 หมื่นล้าน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลการจัดงาน SUBCON Thailand 2025 ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม 2568 โดยร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 46,000 คน โดยมีคณะผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 68 ราย จาก 13 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน ลักเซมเบิร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย เวียดนาม และไทยมีการเจรจาธุรกิจภายในงาน 9,975 คู่ โดยบริษัทที่ร่วมเจรจาธุรกิจ ได้ประเมินว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 22,000 ล้านบาท สำหรับกิจกรรมพิเศษ xEV Sourcing Zone พื้นที่สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Tier 1 จำนวน 10 บริษัท จัดแสดงชิ้นส่วนที่ต้องการจัดซื้อจากผู้ประกอบการไทยใน Tier 2 และ Tier 3 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 และเกิดการเจรจาธุรกิจภายในโซน 243 คู่ คาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนรถยนต์ xEV กว่า 3,650 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของ Supply Chain และฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ซื้อต่างชาติเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก ย้ำจุดแข็ง ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยบีโอไอมุ่งมั่นสนับสนุนให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศให้มากที่สุด พร้อมเปิดโอกาสการเชื่อมโยงธุรกิจกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ ทั้งการจัดซื้อชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิต การร่วมทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถคว้าโอกาสใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ท้าทาย
ข่าวต่างประเทศ
4. เศรษฐกิจสิงคโปร์เสี่ยงถดถอยทางเทคนิค หลัง GDP ไตรมาสแรกชะลอตัว (ที่มา: ศูนย์ข่าวแปซิฟิค, ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2568)
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม สิงคโปร์ เปิดเผยรายงานว่า เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสแรกของปีนี้ (2568) เมื่อเปรียบเทียบกับในปีก่อนหน้า (2567) แต่หดตัวลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2567 หลังปรับตามปัจจัยฤดูกาลแล้ว โดยคงคาดการณ์การเติบโต ทั้งปีนี้ไว้ที่ระหว่างร้อยละ 0.0 ถึงร้อยละ 2 เนื่องจากความไม่แน่นอนระดับโลกที่ยังคงมีอยู่ แม้ความตึงเครียดด้านการค้าจะผ่อนคลายลงบ้างแล้ว ซึ่งการเติบโตในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ขับเคลื่อนโดยภาคการค้าส่ง การผลิต และภาคการเงินและการประกันภัยเป็นหลัก ซึ่งการผลิตและการค้าส่งได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมที่เร่งดำเนินการก่อนที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีศุลกากร ในทางตรงกันข้าม ภาคที่พักและบริการอาหารและเครื่องดื่มหดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเบห์ สวอน จิน ปลัดกระทรวงการค้าฯ กล่าวว่า มีแนวโน้มที่สิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส แม้ความพยายามคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้าจะช่วยปรับแนวโน้มอุปสงค์ต่างประเทศให้ดีขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้สิงคโปร์ถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งแม้ว่าจะน้อยกว่าหลายประเทศ แต่เนื่องจากมูลค่าการค้าที่มีสัดส่วนประมาณสามเท่าของ GDP ทำให้ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าโลก
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)