ข่าวในประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. กองทุนพัฒนา SME เตรียมอัดงบเพิ่ม 2,800 ล้านบาท ออก 2 สินเชื่อใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการสินเชื่อและการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำปี พ.ศ.2568 ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งแรงกดดันทางการค้าโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ส่งผลให้ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ลง โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SME ไทย ทั้งในด้านต้นทุนที่สูงขึ้น การแข่งขันที่รุนแรง รายได้ที่ลดลง การขาดสภาพคล่อง และปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วย SME โดยตั้งแต่ปี 2560-2567 กองทุนฯ ได้อนุมัติสินเชื่อรวมกว่า 26,800 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการกว่า 18,000 ราย ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 80,000 ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ 2568 กองทุนฯ ได้เปิดตัว 2 โครงการสินเชื่อใหม่ วงเงินรวม 1,900 ล้านบาท คือ 1. โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) วงเงิน 1,200 ล้านบาท และ 2. โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงิน 700 ล้านบาท และได้ขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีก 400 ล้านบาท โดยได้มีการอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 2,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จของโครงการและผลตอบรับที่ดี กองทุนฯ จึงมีแผนเปิดตัวสินเชื่อใหม่เพิ่มเติม 2 โครงการ ภายในเดือนตุลาคม 2568 โดยโครงการแรกจะมีเงื่อนไขใกล้เคียงกับโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) ที่กู้ได้ทั้งลูกค้าเดิมของกองทุนและลูกค้าใหม่ และอีกหนึ่งโครงการจะเป็นสินเชื่อเติมทุนหนุนธุรกิจ (Top Up) ซึ่งเป็นเงินทุนช่วยเหลือและสนับสนุนลูกหนี้สินเชื่อชั้นดี (บัญชีเกรด A) เพื่อนำไปใช้ในการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถ นวัตกรรม ปรับปรุงเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ กรอบวงเงินกว่า 2,800 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างยื่นของบประมาณในปีงบประมาณ 2568
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม (DIPROM)
2. ดีพร้อมผลักดันผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดสากล (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2568)
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ได้เดินทางเยือนสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ (Wakayama Prefectural Government Office) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมการประชุม หารือร่วมกับนายซากากิ โมริฮิโกะ ผู้อำนวยการบริหารสำนักนโยบายองค์กรกรมการค้าอุตสาหกรรม และแรงงาน รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ณ อาคารสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับการหารือดังกล่าว เป็นการต่อยอดความร่วมมือจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันระหว่างกรมฯ และจังหวัดวากายามะ ที่มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 วัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน ตลอดจนเสริมสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ของไทยและญี่ปุ่น ทั้งนี้ ยังมีการหารือ เรื่องผลกระทบจากการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา ความร่วมมือเกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ความร่วมมือในการพัฒนาด้านแฟชั่นของอุตสาหกรรมสิ่งทอตามนโยบาย Soft Power รวมถึงการนำเสนอผู้ประกอบการของไทยที่มีศักยภาพโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการของจังหวัดวากายามะเพื่อสร้างความเข้มแข็งในรูปแบบ Supply Chain ของอุตสาหกรรมพร้อมร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดวากายามะ และหารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการความร่วมมือ ที่ทั้งสองหน่วยงานสามารถดำเนินการร่วมกันได้ภายในปี 2568 ซึ่งดีพร้อมจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นที่มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย โดยการเดินทางเยือนจังหวัดวากายามะ ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการดำเนินนโยบายของดีพร้อมในการผลักดันผู้ประกอบการไทย ให้สามารถขยายตลาดและเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในระดับสากล ผ่านการดำเนินงานของ โต๊ะญี่ปุ่น หรือ DIPROM Japan Desk ที่มีมากว่า 16 ปี
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" ของดีพร้อม เป็นการพัฒนาธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้เติบโต สามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะสอดรับตามนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลก ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกรทระทรวงอุตสาหกรรม
นายพรยศ กลั่นกรอง
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
3. ดึง SME จดทะเบียนเครื่องจักร เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2568)
นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า โครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตผ่านการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยคัดเลือกโรงงานเข้าร่วมโครงการแล้ว 50 แห่ง และจัดอบรมความรู้แก่ผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ผ่านระบบออนไลน์ ในประเด็นสำคัญ คือ การประเมินประสิทธิภาพด้านพลังงานของเครื่องจักร เทคนิคการลดต้นทุนและการใช้พลังงานทดแทน และความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่มาตรฐานสากล ทั้งนี้ หลังจากอบรมให้ความรู้ ผู้ประกอบการแล้ว กรมฯจะจัดทีม เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเครื่องจักรในสถานประกอบการ เพื่อให้คำปรึกษา เชิงลึก และผลักดันการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ตั้งเป้าครอบคลุมไม่น้อยกว่า 1,300 เครื่อง ผลเชิงเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท โดยคิดจากมูลค่ารวมของ ต้นทุนที่ลดลง กำไรเพิ่มขึ้น หรือมีรายได้เพิ่มจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น จากการใช้เครื่องจักร ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการจัดทำแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักร เพื่อ ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของ SMEs ไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มีโครงการ/มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการใช้เครื่องจักรที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นหลักประกัน เพื่อปรับปรุงหรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ สามารถยื่นความประสงค์ได้ที่สถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม โครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือเป็นกลไกสำคัญในการ "เซฟ" ผู้ประกอบการในยุคที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบผลิต เพิ่มความสามารถในการลงทุน และวางรากฐาน "การสร้าง" โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะต่อ ยอดสู่ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมชุมชนและเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
ข่าวต่างประเทศ
4. สหรัฐเผย GDP หดตัว 0.2% ใน Q1/68 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2568)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2568 ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.2% ในไตรมาสดังกล่าว ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่าหดตัว 0.3% หลังจากมีการขยายตัว 2.4% ในไตรมาส 4/2567 ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐที่หดตัวในไตรมาส 1/2568 ได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งตัวเลขนำเข้าที่พุ่งขึ้น 42.6% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 จากการที่บริษัทต่างๆ พากันนำเข้าสินค้าก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2568
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในไตรมาส 1/2568 หลังจากปรับตัวขึ้น 2.6% ในไตรมาส 4/2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)