ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. รมว.อุตสาหกรรม เปิดโครงการเสริมทักษะอาชีพ สู่ Soft Power ชุมชน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “เสริมทักษะอาชีพ สู่ Soft Power ชุมชน ให้ดีพร้อม" หลักสูตร "อาหารพื้นบ้าน ทำง่ายขายคล่อง Soft Power ไทย" ประจำปี 2568 ที่ศูนย์ประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นประจำ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมาย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเอง ทำประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม รัฐบาลจึงได้มีนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชาชน สร้างโอกาสให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เกิดการยกระดับคุมคุณคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันให้เกิดการยกระดับและพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ และคิดสร้างสรรค์ของประชาชนให้สร้างมูลค่า และสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรมและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน และผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน
อย่างไรก็ตาม ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “เสริมทักษะอาชีพ สู่ Soft Power ชุมชน ให้ดีพร้อม” หลักสูตร “อาหารพื้นบ้าน ทำง่าย ขายคล่อง Soft Power ไทย” โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้และฝึกฝนทักษะด้านอาชีพในการสร้างสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่นในชุมชน โดยกำหนดฐานการเรียนรู้ประกอบด้วย ฐานที่ 1 การทำปลาส้ม ฐานที่ 2 การทำน้ำพริก ฐานที่ 3 การทำไข่เค็ม ซึ่งการจัดกิจกรรมในวันนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการให้ทักษะ ให้เครื่องมือ ให้โอกาส และให้ธุรกิจที่ดีสู่ชุมชนในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมสามารถสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
2. 7 กลยุทธ์อัพเกรดเอสเอ็มอี (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2568)
น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ 7 ด้าน เพื่อลดผลกระทบสงครามการค้าต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการปรับตัวใน 7 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมกระจายความเสี่ยงจากตลาดเดียว โดยลดการพึ่งพาตลาดส่งออกตลาดเดียว หาตลาดใหม่ และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุด 2. ยกระดับมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะผลักดันให้เอสเอ็มอียกระดับมาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัล ในการปรับโมเดลธุรกิจและเข้าร่วมแพลตฟอร์มระหว่างประเทศ 4. บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปรับกระบวนการผลิตให้ประหยัดพลังงาน ลดการใช้ทรัพยากร และลดความสูญเสีย 5. การติดตามข่าวสารและวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงนโยบาย โดยการติดตามสถานการณ์ ประเมินผลกระทบต่อสินค้าและธุรกิจ 6. เตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบและกติกาสากล โดยการทำความเข้าใจกฎ และมาตรการทางการค้าของประเทศปลายทาง และ 7. ส่งเสริมการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2569 ดีพร้อมจะเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ และปรับตัว พัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อกำหนดใหม่ กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของสหรัฐ ด้านการตลาดดิจิทัล การบริหารจัดการยุคใหม่ การใช้เทคโนโลยี การบริหารความเสี่ยง แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และเรียนรู้แนวทางการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้นในสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศคู่แข่ง โดนภาษีต่ำกว่า และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผล กระทบมากตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสงครามการค้า ดีพร้อมจะให้ความสำคัญกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปยังสหรัฐ เป็นอันดับแรกยังมีเรื่องการเร่งพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ที่ต้องการเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้เพิ่มมากขึ้น จะเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตชิ้นส่วนให้สามารถรองรับการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ไฮบริดในอนาคต
ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
3. สถาบันอาหารเร่งตอบโจทย์เทรนด์โลก ดึงจุดเด่นติดปีกซอฟต์พาวเวอร์โชว์ตปท. (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2568)
ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งออกพวกกลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มโดดเด่นในปี 2568 ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ซอสและเครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทานและผลิตภัณฑ์มะพร้าว โดยการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมีแรงขับเคลื่อนจากแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่ต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สินค้าพรีเมียมและฟังก์ชันนัลเพิ่มมากขึ้น ตลาดที่มีแนวโน้มดี เช่น จีน อินเดีย ที่จะเติบโตได้ในระยะยาว ขณะที่การส่งออกซอสและเครื่องปรุงรส มีแรงขับเคลื่อนจากความนิยมในอาหารและเครื่องปรุงรสไทยที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ การขยายตลาดในสหรัฐฯ และการพัฒนาซอสรสชาติที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เช่น ซอสเผ็ดการส่งออกอาหารพร้อมรับประทาน มีแรงขับเคลื่อนจากผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับความสะดวกรวดเร็วในการบริโภคอาหารในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนกอปรกับมีเทคโนโลยีนวัตกรรมช่วยให้คงรสชาติและยืดอายุอาหารได้ดียิ่งขึ้น การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว มีแรงขับเคลื่อนจากเทรนด์สุขภาพ และการขยายตัวของตลาดนมจากพืช (Plant-based milk) แต่ทั้งนี้ สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารไทย ยังคงมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะนโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ของประธานาธิบดีของสหรัฐฯที่จะดำเนินการกับทุกประเทศที่เห็นว่าได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารไทยก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากอาหารเป็นหนึ่งในสาขาการผลิตที่ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยล่าสุดในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ มูลค่า 172,380 ล้านบาท แต่นำเข้ามูลค่า 44,150 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้าอาหารกับสหรัฐฯ มูลค่า 128,230 ล้านบาท สัดส่วนประมาณ 10% ของยอดเกินดุลการค้ารวมของไทย รองจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลัง 2568 ตามทิศทางดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลาย ราคาเหมาะสม มีคุณภาพและความปลอดภัย สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าทั่วโลก เป็นปัจจัยหลักที่จะผลักดันการส่งออกอาหารไทยในปี 2568 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ส่งออกภาพรวมในไตรมาสแรกลดลง 12% ก็ตาม ซึ่งบทบาทของสถาบันอาหารในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารจึงต้องสร้าง เพื่อผลักดันให้เป็นโมเดลนำร่อง ทำอาหารอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนทางด้านอาหารซึ่งกลุ่มที่เป็นอาหารอนาคต ทั้งในเรื่องของการผลิต เรื่องของการทำมาตรฐานต่างๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าทั่วโลก
ข่าวต่างประเทศ
4. สหรัฐเผย GDP หดตัว 0.5% ใน Q1/68 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2568)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2568 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.5% ในไตรมาสดังกล่าว ย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระบุว่า หดตัว 0.2% ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่าหดตัว 0.3% โดยเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในไตรมาส 1/2568 โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งตัวเลขนำเข้าที่พุ่งขึ้น 37.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2563 จากการที่บริษัทต่างๆ พากันเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ ในปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1, 3.0% ในไตรมาส 2, 3.1% ในไตรมาส 3 และ 2.4% ในไตรมาส 4
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในไตรมาส 1/2568 หลังจากปรับตัวขึ้น 2.6% ในไตรมาส 4/2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)