ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. "เอกนัฏ" การันตีคุณภาพ "โฮมสเตย์ไทย" รองรับการท่องเที่ยววัฒนธรรมท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกด้าน ทุกมิติ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว เม็ดเงินที่จ่ายต่อหัว และการจ้างงาน เนื่องจากการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สำหรับภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการกำหนดมาตรฐานที่สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ได้แก่ มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ เนื่องจากในปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวชุมชน (Community-based Tourism) กำลังมีบทบาทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าของบ้าน ในชุมชน ดังนั้น การได้รับการรับรองตามมาตรฐาน จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ทำให้ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการของสถานประกอบการระดับเอสเอ็มอีในประเทศไทย และเลือกที่จะท่องเที่ยวเมืองรอง หรือในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าของบ้านในชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับผู้คนในท้องถิ่นหรือในชุมชน โดยพักอยู่บ้านเดียวกันกับเจ้าของบ้าน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเจ้าของบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นแก่นักท่องเที่ยวพาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น และจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน โดย สมอ. มีมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส การบริการที่พักสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น (โฮม สเตย์) มอก.เอส 185-2564 ที่มีข้อกำหนดครอบคลุมระบบการบริหารงานที่ดี ตามหลักมาตรฐานสากล ISO 9001 เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพได้นำมาตรฐานไปใช้ จะทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นได้ว่า โฮมสเตย์นั้นมีระบบการบริหารงานที่ดี ดำเนินกิจการสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวจาก สมอ. แล้ว จำนวน 53 ราย เป็นโฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานที่ท่องเที่ยวทุกภาคทั่วประเทศ เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ชุมพร นครราชสีมา พิจิตร ราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. กระชับสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเพิ่มดีกรีการแข่งขันอุตสาหกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วยนายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภัทรพล ลิ้มภักดี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมหารือความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่นร่วมกับนายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นางสาวเพ็ญโสม เลิศสิทธิชัย รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ณ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยการหารือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการจะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม 2568 ซึ่งจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยในปี 2570 จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ดังนั้น กระทรวงการ ต่างประเทศจึงได้เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นพ้องกันร่วมกันที่จะนำประเด็นที่อยู่ภายใต้จัดการประชุมกลไกการหารือไทย-ญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Dialogue : EID) ซึ่งได้มีการประชุมฯ ครั้งที่ 1 เมื่อปลายเดือนเมษายน ณ กรุงเทพฯ เป็นวาระสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานแห่งอนาคต และสังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ 1. การส่งเสริมแนวทางที่หลากหลาย (Promotion of Multi-Pathway) 2. การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Promotion of Circular Economy) และ 3. การดูแลรักษาและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและทรัพยากรบุคคลให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงการสนับสนุน SMEs โดยเฉพาะการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel และ Ethanol) การส่งเสริมการจัดการรถยนต์ใช้แล้ว การกำหนด Product Champion ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากญี่ปุ่น
นายภาสกร ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
3. ปลื้ม 3 อุตฯ โตพรวด พ.ค.68 ดันอัตรากำลังการผลิตพุ่ง 61% (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2568)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพฤษภาคม 2568 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.14% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.86% จากรถยนต์นั่งไฮบริดขนาดมากกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถยนต์นั่งปลั๊กอินไฮบริดเป็นหลัก ตามกระแสความนิยมและความต้องการของตลาด สำหรับรถบรรทุกปิกอัพขยายตัวจากตลาดส่งออกเป็นหลัก รวมทั้งน้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.14% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลักตามปริมาณผลปาล์มออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีคำสั่งซื้อจากอินเดีย จีน และเมียนมาเพิ่มขึ้น และน้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.43% จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวเป็นหลัก ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณฝนในพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นและราคาอ้อยในฤดูการผลิต 2566/67 มีราคาสูง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.64% ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ จากสภาพอากาศแปรปรวนเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปีก่อน และมีการแข่งขันด้านราคาสูงโดยเฉพาะสินค้าต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่า รวมทั้งเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.56% จากผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม เครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูป และน้ำดื่มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตรายสำคัญหยุดผลิต และกาแฟ ชา และน้ำสมุนไพร หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 80.83% จากผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเป็นหลัก เนื่องจากการหยุดผลิตชั่วคราวเป็นเดือนที่ 5 ของผู้ผลิตรายสำคัญ
ข่าวต่างประเทศ
4. จีนเผย PMI ภาคการผลิตหดตัวเดือนที่ 3 คาดหนุนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นศก. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2568)
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิถุนายน 2568 ของจีนอยู่ที่ระดับ 49.7 ซึ่งแม้ว่าปรับตัวขึ้นจากระดับ 49.5 ในเดือนพฤษภาคม แต่ดัชนีอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ส่วนดัชนี PMI นอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการและการก่อสร้าง ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 50.5 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 50.3 ในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนยังคงมีการขยายตัว ซึ่งผู้ประกอบการในภาคการผลิตของจีนได้รับผลกระทบจากสงครามราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางภาวะอุปทานที่อยู่ในระดับสูงและอุปสงค์ผู้บริโภคที่อ่อนแอ โดยสถานการณ์เหล่านี้ย่ำแย่ลงนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นภาษีศุลกากร ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตที่หดตัวอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบของข้อพิพาทการค้า
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)