ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' ถก 'ซีเมนส์' เดินหน้าความร่วมมือด้านเทคโนโลยี-นวัตกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การต้อนรับ ดร.โรลันด์ บุช ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ เอจี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารที่มาข้าพบ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งการหารือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยอาศัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของซีเมนส์ เช่น ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยกระดับคุณภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 โดยใช้ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะและนวัตกรรมสีเขียวที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ ยังมีการหารือเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือกับสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) เพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิต รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะภายในเขตอุตสาหกรรมและโครงการเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายชัดเจนในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซีเมนส์ถือเป็นพันธมิตรสำคัญที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเครือข่ายระดับโลก ซึ่งสามารถเสริมศักยภาพการผลิตของไทยให้เทียบชั้นระดับสากลได้ โดยเฉพาะในยุคที่อุตสาหกรรมต้องผสานทั้งความยั่งยืนและดิจิทัลไปพร้อมกัน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและแรงงานทักษะสูง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน ความร่วมมือกับซีเมนส์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านหลักสูตรอบรม จะช่วยยกระดับทักษะให้แรงงานไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี และสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และคน ได้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมุ่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ "Green & Safe Industry" ด้วยแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสะอาด และการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตบนรากฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. ก.อุตฯ ผนึกพันธมิตรปั้นเชฟ 1.7 หมื่นคนสู่ครัวโลก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การใช้อาหารเป็น "Soft Power" ไม่ใช่เพียงแนวคิด หากแต่เป็น "ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ด้วยการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยกระดับสินค้าทั้งด้านมาตรฐานและดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) บูรณาการความร่วมมือ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เร่งเดินหน้า "โครงการยกระดับหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย (Master Thai Chef)" อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นกลไกในการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และทักษะที่ได้รับการรับรอง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้กับประชาชน แต่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายเชฟไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโตยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบาย OFOS (One Family One Soft Power) การยกระดับรายได้ให้ประชาชนของรัฐบาลผ่านการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางสาวณัฎฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2568 ดีพร้อม ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติทั้ง 13 สาขาเขตขยายพื้นที่เป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพให้ประชาชน จำนวน 17,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตร Master Chef Program 50 ตำรับ จำนวน 12,000 คน และ 2. Master Chef Program Plus 70 ตำรับ จำนวน 5,000 คน โดย จะพัฒนาขึ้นมาใหม่จาก 7 กลุ่มอาหาร ประกอบด้วย อาหารไทยต้นตำรับเพื่อการประกอบอาชีพ อาหารไทยสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ ขนมหวานไทยประยุกต์สำหรับตลาดสากล อาหารไทย Street Food ฟิวชั่นอาหารไทยกับรสชาติสากล อาหารเจ และอาหารชาววัง ซึ่งออกแบบให้สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรมทำให้สามารถต่อยอดสู่อาชีพ เกิดการสร้างรายได้ และสร้างแบรนด์ท้องถิ่นอันจะนำไปสู่การยกระดับเชฟชุมชนให้เป็น Soft Power ระดับประเทศและการยอมรับอาหารไทยในเวทีสากลต่อไป
นางสาวโชติกา ชุ่มมี
ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)
3. ส่งออกทูน่ากระป๋องแข่งขันสูงเอกวาดอร์-จีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2568)
นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยผลการวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่าว่า ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 6.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าของคู่ค้าฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพื่อกักตุนสินค้าก่อนครบกำหนดเส้นตายปรับขึ้นอัตราภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบในวันที่ 8 กรกฎาคม 2025 และยังได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกไปยังหลายประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้อาจจะชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหลังการบังคับใช้ภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปี 2025 เติบโต 4%YOY โดยคาดว่าแนวโน้ม การส่งออกจะยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงรวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อทำให้ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องการกักตุนสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน เช่น ทูน่ากระป๋อง เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่ต้องจับตา คือ การแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และจีน ทั้งนี้ กำแพงภาษีที่สูงขึ้นจากนโยบายภาษีทรัมป์จะทำให้คู่แข่งหลักของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างเอกวาดอร์ มีแต้มต่อที่ดีขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มโดนเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำกว่าไทยอาจมีผลให้คู่ค้าบางส่วนหันไปนำเข้าจากเอกวาดอร์เพิ่มขึ้นแทน ขณะที่คู่แข่งอีกรายคือ จีนซึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องให้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิต วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมๆ ไปกับขยายการส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
ข่าวต่างประเทศ
4. ไทยไม่รอด! ทรัมป์แจ้งรีดภาษี 36% เท่ากัมพูชา แต่แย้มเปิดโอกาสให้เจรจาเพิ่มเติม (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2568)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้เริ่มต้นแจ้งกับบรรดาคู่หูทางการค้า ไล่ตั้งแต่ซัพพลายเออร์เจ้าใหญ่อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไปจนถึงผู้เล่นรายเล็ก ซึ่งรวมถึงไทย ว่าจะโดนเพดานภาษีระดับสูง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 ถือเป็นปฐมบทใหม่ในสงครามการค้าที่เขาเริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าจนถึงตอนนี้ ได้มีการส่งหนังสือแจ้งไปยังประเทศต่างๆ 14 ชาติ ในนั้นรวมถึงผู้ส่งออกมายังสหรัฐฯ เจ้าเล็กกว่าอย่าง เซอร์เบีย, ไทย และตูนีเซีย เกี่ยวกับตัวเลขเพดานภาษีสูง แต่ขณะเดียวกันก็แย้มถึงการเปิดโอกาสสำหรับการเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งในจดหมายเตือนว่ามาตรการแก้แค้นใดๆ จะต้องเจอกับการตอบโต้แบบทัดเทียมกัน คือไม่ว่าเหตุผลใดๆ ที่คุณตัดสินใจเพิ่มเพดานภาษีของคุณ เมื่อนั้น ไม่ว่าตัวเลขใดๆ ที่คุณเลือกปรับเพิ่มเพดานภาษี เราจะชาร์จเพดานภาษีเพิ่มเติมอีก 25% โดยทรัมป์ระบุในหนังสือแจ้งไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เผยแพร่บนทรัสต์โซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ของเขาเอง ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเพดานภาษีนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม แต่จะไม่นับรวมกับคำแถลงรีดภาษีอย่างเจาะจงเป็นรายภาคก่อนหน้านี้ กับภาคยานยนต์ เหล็ก และอลูมีเนียม นั่นหมายความว่า ยกตัวอย่างเช่น เพดานภาษีรถยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ที่ 25% แทนที่จะดีดตัวขึ้นไปเป็น 50% เมื่อรวมกับอัตราภาษีตอบโต้ใหม่ ประเทศต่างๆ พยายามทำงานแข่งกับเวลาในการหาข้อสรุปในข้อตกลงกับสหรัฐฯ หลัง ทรัมป์ ปลดปล่อยสงครามการค้าโลกในเดือนเมษายนที่เขย่าตลาดการเงินและผลักให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ ดิ้นรนหาทางปกป้องเศรษฐกิจของตนเอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราภาษีที่เรียกเก็บกับเกาหลีใต้ อยู่ในระดับเดิมกับที่ ทรัมป์ ประกาศในเบื้องต้น ส่วนของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมา 1% จากที่เคยแถลงครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน ทั้งนี้หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น เขาจำกัดสิ่งที่เรียกว่ามาตรการภาษีตอบโต้ไว้ที่ 10% จนถึงวันพุธ (9 กรกฎาคม 2568) เพื่อเปิดทางการเจรจา ซึ่งจนถึงตอนนี้เพิ่งบรรลุข้อตกลงได้เพียง 2 ชาติ ได้แก่ สหราชอาณาจักร และเวียดนาม ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 ทรัมป์ เปิดเผยว่านอกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแล้ว สหรัฐฯ จะกำหนดมาตรการรีดภาษี 25% กับตูนิเซีย มาเลเซียและคาซัคสถาน และเพดานภาษี 30% เรียกเก็บกับแอฟริกาใต้ บังกลาเทศ รวมถึงบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ส่วน กัมพูชาและไทย เจอเพดานภาษี 36% เท่ากัน ในขณะที่ลาวและพม่า โดนไปชาติละ 40%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)