ข่าวในประเทศ
นายบรรจง สุกรีฑา
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
1. สมอ.ลุยปั้นธุรกิจเสริมสวย MOU ปูพรมหมื่นรายเข็นใช้ 'มอก.เอส' (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2566)
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยมีร้านเสริมสวยกว่า 120,000 ร้าน คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 60,000 ล้านบาท ดังนั้น สมอ.จึงกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเสริมความงามออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ได้แก่ การบริการแต่งหน้า บริการตัดแต่งทรงผม บริการทำเล็บ บริการนวดและสปา รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผม หมักผม ปรับสภาพเส้นผม ผลิตภัณฑ์บำรุงเท้า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสม สมุนไพร เป็นต้น และกำลังจะประกาศใช้เพิ่มเร็วๆ นี้ อีก 3 มาตรฐาน ได้แก่ การบริการต่อขนตา การบริการสักคิ้ว และการบริการสักตัว ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 สมอ.จะลงนามความร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมไทยเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเสริมความงาม ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของสมาพันธ์ให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการรับรองมาตรฐาน มอก.เอส รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลของผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองแล้ว เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเสริมความงามของไทยมีมาตรฐาน สินค้าและบริการได้รับการรับรองสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้บริโภค รวมไปถึงสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สมอ.จะจัดสัมมนาให้ความรู้แก่บุคลากรของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมไทย ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดของมาตรฐาน สามารถพัฒนากระบวนการการให้บริการของตนเอง จนสามารถขอรับการรับรองจาก สมอ.ได้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการร้านเสริมสวยที่อยู่ภายใต้สมาพันธ์ได้รับการรับรอง มอก.เอส กว่า 10,000 รายทั่วประเทศ
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล
รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
2. อาเซียนเร่งเออีซีขับเคลื่อนศก.ยั่งยืน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2566)
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration: HLTF-EI) ครั้งที่ 43 เมื่อวันที่ 1-3 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่เมืองเบลีตุง ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน โดยเฉพาะการจัดทำวิสัยทัศน์ของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหลังปี 2568 (AEC Post-2025 Vision) รวมทั้งวางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหาแนวทางเสริมความแข็งแกร่งด้านการค้าการลงทุนภายในอาเซียน พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าว เตรียมเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2566 นี้ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นในการจัดทำวิสัยทัศน์ AEC หลังปี 2568 ว่า ควรมีประเด็นเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียนในอนาคตด้วยปัจจัยใหม่ๆ อาทิ การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก เศรษฐกิจสร้างสรรค์ นวัตกรรมช่วยเพิ่มการผลิต การเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสและความท้าทาย การมีส่วนร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค และมีกลไกติดตามการทำงาน ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะนี้เริ่มจัดทำโครงร่างและองค์ประกอบแผนงานของวิสัยทัศน์ดังกล่าวแล้ว จะต้องหารือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้ได้ความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมุมมองต่อพลวัตด้านเศรษฐกิจในอนาคตให้มากที่สุด เนื่องจากจะเป็นแผนงานครอบคลุมระยะเวลาถึง 20 ปี
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเสาเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญจะผลักดันให้สำเร็จในวาระการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียปีนี้ ทั้งการจัดทำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนพลังงานจากฟอสซิล และการส่งเสริมศักยภาพด้านยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะการมีระบบนิเวศรองรับ โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับประเด็นภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งจะสนับสนุนการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของภูมิภาค และเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต
นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้
3. ท่องเที่ยวภูเก็ตฟื้นก้าวกระโดด ต้องการแรงงานอีก 1.7 หมื่นคน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2566)
นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา นับว่าเริ่มมีการฟื้นตัวได้ดี โดยอัตราการเข้าพักในช่วงกลางปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 40% ปลายปี 2565 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 70% และในปี 2566 นี้ ก็สามารถฟื้นตัวได้แบบก้าวกระโดด ซึ่งอัตราการเข้าพักตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงมีนาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 88% จากในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 86% โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในขณะนี้แสดงให้เห็นว่าได้กลับมาเป็นปกติแล้ว นอกจากนี้ค่าเซอร์วิสชาร์จของโรงแรมเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000-50,000 บาท ก็ถือว่าการท่องเที่ยวได้กลับมาดีเกินคาด อีกทั้งตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนได้เริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยแล้ว รวมทั้งตลาดใหม่ คือ คาซัคสถาน ส่วนปัญหาของการท่องเที่ยวนั้น ยังคงประสบกับปัญหาต่างๆ อาทิ ค่าตั๋วเครื่องบินที่แพงมาก อาทิ ไปกลับภูเก็ต-กรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ซึ่งต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจต้องให้การบินฟื้นตัว ให้ค่าโดยสารถูกลง ซึ่งก่อนโควิด-19 มีจำนวน 450 เที่ยวบิน ตอนนี้อยู่ที่ 250 เที่ยวบิน ถือว่าฟื้นตัว 50% ส่วนยอดนักท่องเที่ยวก่อนโควิด-19 มีจำนวน 50,000-60,000 คน ตอนนี้อยู่ที่กว่า 40,000 คนแล้ว ถือว่าฟื้นตัว 70%
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาต่อมาที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และปัญหาขาดแคลนแรงงานอีกจำนวน 17,000 คน แต่ก็ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ประสานกับสถานศึกษาทั่วประเทศ ส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงานในระบบทวิภาคี เป็นโอกาสดีที่นักศึกษาจะได้ทำงาน ได้ประสบการณ์ตรงของแต่ละสาขาอาชีพ และบางสถานประกอบการอาจรับเข้าทำงานได้ทันที
ข่าวต่างประเทศ
4. เฟด-ก.คลังสหรัฐออกโรงกู้วิกฤต ยืนยัน ปชช. เข้าถึงเงินฝากใน SVB ได้เต็มจำนวน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2566)
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พร้อมด้วยนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนายมาร์ติน กรุนเบิร์ก ประธานบรรษัท ค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทยว่า ในวันนี้ เราได้ตัดสินใจใช้นโยบายที่เด็ดขาดเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของสหรัฐ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคารของเรา โดยเฟดจะจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB สำหรับโครงการ "Bank Term Funding Program" จะเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์, สถาบันรับฝากเงิน, เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ โดยสถาบันการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินกู้จากโครงการดังกล่าวนั้น จะถูกขอให้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ซึ่งเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับระบบธนาคารในการป้องกันเงินฝาก และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการจัดหาเงินสดและสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เฟดยังพร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องหากพบว่าปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุด้วยว่า กระทรวงการคลังสหรัฐจะจัดสรรเงินมูลค่าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์จากกองทุน "Exchange Stabilization Fund" เพื่อสมทบกับกองทุนดังกล่าวของเฟด นอกจากนี้ แถลงการณ์ร่วมของเฟด, กระทรวงการคลังสหรัฐ และ FDIC ยังระบุว่า จะไม่มีการอุ้มกิจการของ SVB ส่วนบรรดาผู้เสียภาษีก็จะไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการใหม่ที่เราตั้งขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้บางส่วนของ SVB จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)