ข่าวประจำวันที่ 8 มีนาคม 2567

ข่าวในประเทศ

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. “พิมพ์ภัทรา” ดันไทยศูนย์กลางผลิตรถสันดาป-รถอีวี หวังยานยนต์ไทยผงาดเวทีโลก (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่...ท็อปเทนโลก”ในงานเสวนา "เดลินิวส์ ทอล์ก 2024" ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ ทั้งรถยนต์สันดานและรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มมีการวาง รากฐานการดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีวีมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น มาตรการสิทธิประโยชน์อีวี 3.0 ด้วยการลดภาษี ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อ และมาในรัฐบาลชุดนี้ก็มีการสานต่อเป็นนโยบายอีวี 3.5 รวมถึงได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จึงมั่นใจว่าในด้านสิทธิประโยชน์ประเทศไทยเป็นรองใครในโลกแน่ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังดูแลและส่งเสริมระบบนิเวศในด้านอื่นๆ เพื่อส่งเสริมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม ควบคู่กับการดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปที่เป็นฐานผลิตสำคัญของไทยควบคู่กันไปด้วย ล่าสุดได้มีการหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการส่งเสริมและการบริหารจัดการแบตเตอรี่ภายในประเทศ เบื้องต้นจะให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนเอกชน ให้เข้ามาบริหารจัดการแบตเตอรี่ทั้งการผลิตและรีไซเคิลอยู่ในเขตพื้นที่อีอีซีโดยตรงเพื่อให้มีการดูแลอย่างครบวงจร และไม่กระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ยัง มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ใสส่วนของการดูแลรถยนต์สันดาปกำลังหาวิธีจัดการดูแลซากรถเก่าให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนยังเข้าไปส่งเสริมการปรับตัวของเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนรถยนต์รุ่นเก่าให้ปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการเติมความรู้คู่ทุน รวมถึงการร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดูการพัฒนาเรื่องแรงงานและหลักสูตรการเรียนการสอนให้อัพเดททันสมัยกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้จาก 20 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนับเป็นดาวเด่นเป็นฐานผลิตรถ Product champion เช่น รถกระบะ รถ ECO Car โดยในปี 65 ไทยผลิตยานยนต์รวม 1.9 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.07 ล้านล้านบาท

 

A person sitting in a chair with a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

2. สนค.ชี้โอกาสใน CLMV เพิ่มการค้า-ลงทุนของเอกชนไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีแนวโน้มขยายตัวสูงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดย IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลก ปี 2567 จะขยายตัว 2.9% (ชะลอตัวจากที่คาดการณ์การขยายตัวในปี 2566 ที่ 3.0% โดย กัมพูชา ขยายตัว 6.1% สปป.ลาว ขยายตัว 4.0% เมียนมา ขยายตัว 2.6% และเวียดนาม ขยายตัว 5.8%) ซึ่งกลุ่มประเทศ CLMV มีความสัมพันธ์กับไทยทั้งในมิติเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และมิติทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ถึงแม้จะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กันแต่ทุกประเทศมีนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะตัว การศึกษาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย ตลอดจนขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับภาครัฐและเอกชนในการจัดทำนโยบายและตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

อย่างไรก็ตาม สำหรับโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในกัมพูชา คือ ใช้ประโยชน์จากแผนแม่บทโลจิสติกส์ 2025ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชาและประเทศที่ 3 เช่น เวียดนาม ซึ่งไทยสามารถลดต้นทุนทางการเงินและเวลาได้เฉลี่ย 20% โอกาสส่งออกผลไม้แปรรูปของไทยเพิ่มขึ้นความได้เปรียบจากการมีค่าแรงต่ำสุดในกลุ่มประเทศ CLMV จึงเหมาะกับอุตสาหกรรมที่เป็น Labor-Intensive สำหรับเวียดนามนั้น การที่เวียดนามมุ่งหมายเป็นศูนย์กลางไอทีของ CLMV และเป็นประเด็นที่ควรศึกษาความเป็นไปได้ เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีกำลังซื้อสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV และความท้าทายสำหรับการค้าและการลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ ชาวเวียดนามไม่ได้มองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือที่ซื้อจากประเทศอื่น ส่วนสปป.ลาว คือ การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของ สปป.ลาว โดยใช้พื้นที่บริเวณจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดหนองคายเชื่อมโยงไทยไปยังจีน ผ่านรถไฟ สปป.ลาว-จีน ทำให้การขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนสะดวกขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่ เมียนมา การเร่งส่งเสริมการค้าชายแดน เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศส่งผลให้สินค้าอุปโภค-บริโภคขาดแคลน ชาวเมียนมาจึงเลือกข้ามแดนมาใช้จ่ายบริเวณตะเข็บชายแดน โอกาสของไทยในการเป็นตัวเลือกลำดับต้นหากนักลงทุนพิจารณาจะย้ายฐานการผลิตออกจากเมียนมา โดยไทยอาจให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากเมียนมา

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. สอท.ชง 3 ทางตรึงดีเซล 30 บ. (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2567)

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลควรพิจารณา 3 แนวทาง เพื่อตรึงราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับไม่เกินลิตรละ 30 บาท ควรหามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและจะมีผลกระทบ เช่น กลุ่มรถขนส่ง รถรับจ้าง ฯลฯ เพื่อลดภาระการอุดหนุนลงเพราะสุดท้ายการอุดหนุนที่มากเมื่อราคาตลาดโลกลดผู้ที่จะต้องกลับมาใช้หนี้คือประชาชนอยู่ดี, หันมาพิจารณาการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศให้มากขึ้น เพราะราคาพลังงานตลาดโลกนั้นมีความผันผวนสูง และมีค่าเงินบาทที่หากอ่อนค่าก็จะยิ่งจ่ายแพงเพิ่มขึ้นอีก ควรหันมามองการพึ่งพาภาคการเกษตรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพผลิตได้ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล หรือแม้กระทั่งการวิจัยด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งหากรัฐส่งเสริมและปรับโครงสร้างการผลิตให้ดีๆ ไม่ต้องเสียภาษีฯ ต้นทุนสามารถลดต่ำลงได้อย่างมาก จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน ส่วนอีกแนวทางให้ลดการพึ่งพิงนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศให้ลดต่ำลง ควรมีแผนระยะกลาง และระยะยาวในการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งขณะนี้โลกกำลังก้าวไปสู่พลังงานสะอาดที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงควรหาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น เช่น ส่งเสริมติดโซลาร์เซลล์ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่จะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังจะช่วยลดการใช้ไฟที่เกินความต้องการ และจะไปลดค่าพร้อมจ่าย หรือเอพีที่ประชาชนต้องแบกรับ โดยค่าพร้อมจ่ายเป็นการจ่ายเงินให้โรงไฟฟ้าทุกโรงไฟฟ้าแม้ว่าจะไม่มีการเดินเครื่อง สำหรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นการบริหารจัดการนอกเหนือจากการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาอุดหนุนจนล่าสุด ณ วันที่ 3 มีนาคม 2567 กองทุนฯ ติดลบแล้วกว่า 93,498 ล้านบาท เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ให้ประชาชนเสพติดของถูก และไม่เห็นด้วยที่จะต้องปรับขึ้นราคาไปสู่ระดับลิตรละ 32 บาท เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูง

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิล่าสุด วันที่ 3 มีนาคม 2567 ติดลบ 93,498 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 46,742 ล้านบาท บัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ติดลบ 46,756 ล้านบาท โดยเงินกองทุนฯ ยังไหลออกต่อเนื่องจากการอุดหนุนราคาดีเซล วันที่ 5 มีนาคม 2567 อยู่ระดับลิตรละ 4 บาท เพราะราคาดีเซลตลาดโลกยังคงราคาทรงตัวระดับสูง ซึ่งจากการประมาณการเบื้องต้นแล้วหากการอุดหนุนเฉลี่ยอยู่ในระดับดังกล่าวคาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิจะติดลบระดับ 100,000 ล้านบาทภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2567 หรือต้นเดือนเมษายน 2567

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white fabric

Description automatically generated

 

4. ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องครบหนึ่งปีในเดือนม.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2567)

กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องครบหนึ่งปีเต็มในเดือนมกราคม 2567 เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศได้หนุนผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ โดยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นอยู่ที่ 4.382 แสนล้านเยน (2.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนมกราคม 2567 ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์มัธยฐานของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลของรอยเตอร์คาดว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3.304 แสนล้านเยน หลังจากที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 7.443 แสนล้านเยนในเดือนธันวาคม 2566 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าการส่งออกเติบโตขึ้น 7.6% ในเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุจากอุปสงค์รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์การผลิตชิป ขณะที่ยอดนำเข้าร่วงลง 12.1% ในเดือนมกราคม 2567 อันเป็นผลมาจากการลดลงของการนำเข้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเหลว และอุปกรณ์สื่อสาร

อย่างไรก็ตาม ขณะที่รายได้ปฐมภูมิ (Primary Income) หรือผลตอบแทนจากการลงทุนโดยตรงในอดีตและการลงทุนในต่างประเทศ เกินดุลที่ 2.8516 ล้านล้านเยน ในเดือนมกราคม 2567 นอกจากนี้ ข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมกราคม 2567 ยังแสดงให้เห็นว่าดุลบัญชีด้านการเดินทางเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวขาเข้าที่คึกคัก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)