ข่าวประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. อุตฯจับมือนครหนานหนิง ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมหารือกับนายหนง เซิงเหวิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำนครหนานหนิงสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของไทย โดยไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน และจีนถือเป็นคู่ค้า อันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 12 ปี ติดต่อกันด้วย ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางนโยบายการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ผลักดันนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 2566 ไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด และมีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันรถไฟฟ้าจากจีนสามารถทำตลาดที่ไทยได้อย่างต่อเนื่องและมีท่าทีที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนที่เพิ่มขึ้นในงานมหกรรมยานยนต์ต่างๆ และในวันนี้ก็มีนักลงทุนจากจีนที่มาตั้งโรงงานผลิตในไทยร่วมด้วย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการได้หารือและแนะนำระหว่างกัน และอยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงฯ เกี่ยวกับการยื่นขอ ECO STICKER สำหรับรถไฟฟ้าด้วย โดยในอนาคตจะมีการลงทุนเกี่ยวกับโรงงานแบตเตอรี่ในไทยด้วย ซึ่งทางนครหนานหนิงได้ให้ความสนใจในเรื่องการนำเข้าทุเรียน ยางพารา และสมุนไพรจากไทยด้วย โดยจะหารือถึงแนวทางความร่วมมือกันในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยา เครื่องสำอาง และสปาฮาลาล ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และการกำกับดูแลการประกอบอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยและจีน โดยความร่วมมือกับนครหนานหนิง ซึ่งได้วางเป้าหมายให้เป็นเมืองหลวงของโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและเป็นประตูการค้าของจีนสู่อาเซียนรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งนครหนานหนิงยังเร่งดำเนินนโยบายการยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม และให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและเติบโตผ่านโครงการบ่มเพาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งถือเป็นผลดีกับภาคอุตสาหกรรมไทย และอาจมีความร่วมมือใหม่ๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในอนาคต

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2'ภูมิธรรม' ถกทูตสวีเดนดึงลงทุนอีวี-โซลาร์เซลล์ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567)

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังหารือกับนางอันนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของสวีเดนว่า ได้หารือถึงการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทสวีเดนลงทุนในไทยมากกว่าร้อยราย อาทิ รถยนต์ซาบ วอลโว่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอีเลคโทรลักซ์ เฟอร์นิเจอร์อิเกีย จึงได้เชิญให้สวีเดนขยายการลงทุนเพิ่มในไทยในสาขาที่สวีเดนมีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญ ที่เปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โซลาร์เซลล์ พลังงานหมุนเวียน รวมถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมด้านสีเขียวและความยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังหารือถึงประเด็นความร่วมมืออื่นที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เช่น ด้านคมนาคม การศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ โดยฝ่ายสวีเดนแจ้งว่า สวีเดนอยู่ระหว่างการหารือกับกองทัพอากาศไทย เพื่อสานต่อความร่วมมือทางด้านการป้องกันประเทศ ที่สวีเดนมีความเชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยได้ขอให้สวีเดนในฐานะประเทศสมาชิกของอียู สนับสนุนการเจรจาดังกล่าว เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก 27 ประเทศ รวมถึงสวีเดนด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตสวีเดนได้แจ้งพร้อมให้การสนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอกับไทยเพื่อบรรลุข้อตกลงที่ครอบคลุมและได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC โดยธนาคารไทยพาณิชย์

 

3. EIC คาดส่งออกปี 67 โต 3.1% เฝ้าระวัง 'ภัยแล้ง-สู้รบ' กดดัน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC โดยธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยการคาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยทั้งปี 2567 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ 3.1% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ 1. ปริมาณการค้าโลก มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก แม้จะไม่สดใสเหมือนที่ประมาณการไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบริเวณทะเลแดง 2. ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 2567 นี้ เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกที่พลิกกลับมาอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องสองเดือน หลังจากหดตัวมานาน ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศ มีแนวโน้มหดตัวน้อยลง ขณะที่ดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตในอนาคต ขยายตัวเร่งขึ้นตั้งแต่ปลาย 2566 สะท้อนการขยายตัวภาคการผลิตในระยะข้างหน้า 3. ราคาสินค้าส่งออกที่ดี ตามแนวโน้มเพิ่มขึ้นผลจากผลผลิตโลกลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมส่งออกสินค้าบางประเทศ รวมถึงราคาน้ำมันสูงขึ้นตามความเสี่ยงการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียโดยยูเครน สถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือนเมษายนและขยายตัว 2% ในไตรมาส 2 ผลจากราคาสินค้าเกษตรและผลไม้ การฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ รถไฟฟ้า และพลังงานสะอาดของโลก รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า และค่าระวางเรือเข้าสู่ระดับปกติ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยระบุว่า การส่งออกไทยอาจเผชิญกับ 3 ปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังและกระทบต่อการค้าโลก ได้แก่ 1. ปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากความแห้งแล้งของคลองปานามาและการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีบริเวณทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งของไทยไปสหรัฐและยุโรป ที่ยังคงกดดันการค้าโลกอยู่ 2. ปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม และ 3. สถานการณ์สงครามระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล มีแนวโน้มจะลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น อิหร่าน ส่วนสงครามยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศใกล้เคียง ไม่ได้มีแนวโน้มจะขยายตัวเป็นวงกว้าง ไปในภูมิภาค และประเทศไทย มีสัดส่วนการค้ากับกลุ่มประเทศดังกล่าวค่อนข้างน้อย ประเทศไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามค่อนข้างจำกัด

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with a white flower

Description automatically generated

 

4. แบงก์ชาติฮ่องกงประกาศตรึงดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567)

ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% ในวันนี้ โดยดำเนินการตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6                         ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ทุกรายในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งปกติแล้ว HKMA จะดำเนินนโยบายการเงินในแนวทางเดียวกับเฟด เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐในกรอบ 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ถ่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกง หลังจากเผชิญภาวะตกต่ำอันเกิดจากผลพวงของโรคโควิด-19 ระบาดและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ย่ำแย่ของฮ่องกง ทั้งนี้ เศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มชะลอการขยายตัวในปีนี้ โดยถูกกดดันจากอุปสงค์ที่อ่อนแอในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยฮ่องกงมีกำหนดรายงานข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับไตรมาส 1/2567 ในช่วงบ่ายวันนี้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)