ข่าวประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

1. ส.อ.ท.คาดหวังทีมรัฐมนตรีศก. นำพาภาคธุรกิจฝ่า 5 ความท้าทายใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ครม.ชุดใหม่เป็นการปรับแบบส่วนน้อย (Minor Change) ไม่ได้ปรับใหญ่ หรือเรียกว่าเป็นการปรับแบบกะทัดรัด โดยได้มีการเน้นในบางเรื่องที่ต้องการจะขับเคลื่อนต่อ ซึ่งเป็นการปรับแต่งเครื่องให้พร้อมที่จะเดินต่อ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญ ดังนั้นการปรับ ครม. ครั้งนี้รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับกระทรวงการคลัง โดยได้นายพิชัย ชุณหวชิร มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเต็มตัว และมีรัฐมนตรีช่วยเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งก็คือนายเผ่าภูมิโรจนสกุล มาช่วยในการทำงาน สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในขณะนี้ ประกอบด้วย 1. Technology Disruption หรือเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต่อจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยนำเอาระบบ AI และ Robot เข้ามามีบทบาทมากขึ้น 2. สงครามการค้าสู่สงครามด้านเทคโนโลยี (Technology War) 3. สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมต้องปรับแผนรูปแบบทางธุรกิจ 4. Geopolitics หรือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่จำเป็นต้องมีการหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดที่เป็นคู่ขัดแย้ง 5. ภาวะโลกร้อน (Global Warming) สู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่นำไปสู่การปรับตัวตามมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) รวมถึงการเกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ทาง ส.อ.ท. เตรียมเร่งยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) พร้อมทั้งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยด้วยอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรผ่าน S-Curve รวมทั้งการจัดทำโครงการต้นแบบเพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ (Smart Agriculture Industry : SAI) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ พยายามสร้างมูลค่าวัสดุทางการเกษตร ผ่านการปลูก แปรรูป สกัด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และการเตรียมความพร้อมให้ภาคอุตสาหกรรมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ตลอดจนการเปิดแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX) แห่งแรกในเอเปก เป็นต้น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายวันชัย พนมชัย

เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

2. ลุยมาตรฐานป้องเอกชน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2567)

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เดินหน้ามาตรฐานเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยทั้งใน และระหว่างประเทศ โดยสมอ.ในฐานะหน่วยงานกลางในการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (ทีบีที) ขององค์การการค้าโลก และหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบและคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทย มีส่วนร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ และเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม หรือเอ็มอาร์เอ ด้านมาตรฐานกับประเทศต่างๆ รวม 4 เรื่องกับ 4 ประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก เฉพาะปี 2566 มูลค่าไม่ต่ำกว่า 255,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเจรจาประกอบด้วย การเจรจาทำเอฟทีเอกับศรีลังกา ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังศรีลังกา ปีละกว่า 10,800 ล้านบาท, การเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม สมอ. - บีเอ็มเอสไอ (ไต้หวัน) เพื่อให้ไต้หวันยอมรับผลทดสอบและรับรอง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้าเป็นการช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปยังไต้หวัน ในปี 2566 กว่า 13,000 ล้านบาท, การเจรจากับอินเดียให้เลื่อนการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมคุณภาพสำหรับสินค้าแผ่นไม้ของอินเดีย ทำให้ผู้ประกอบการไทยรักษาตลาดส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย ปีละกว่า 2,700 ล้านบาท และการเจรจาร่างกฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานสำหรับรถยนต์ใหม่ของออสเตรเลียขอให้ออสเตรเลียพิจารณากำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาเตรียมตัว

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอโชว์ลงทุนพุ่ง 2.28 แสนล้าน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2567) การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ ของบีโอไอ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับการขยายตัวของเอไอ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่างๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้น 130% มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท

 

 

ข่าวต่างประเทศ

A logo with a globe and arrows

Description automatically generated

 

4. OECD เริ่มกระบวนการพิจารณารับอินโดนีเซียเป็นสมาชิกชาติแรกในอาเซียน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2567)

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยว่า ทางองค์การได้เริ่มกระบวนการพิจารณารับอินโดนีเซียเป็นสมาชิกแล้ว ซึ่งสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า อินโดนีเซียเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยื่นคำขอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งใน OECD ทั้งนี้ OECD เปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ทาง OECD ได้เริ่มหารือกับอินโดนีเซียเกี่ยวกับการเข้าร่วมองค์กรนี้ โดย OECD มีสมาชิก 38 ราย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาติตะวันตก ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้แสดงการสนับสนุนให้มีประเทศอื่นๆ ในเอเชียเข้าร่วมองค์กรนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นผลมาจาก "การปฏิรูปเศรษฐกิจ การพัฒนา และการเติบโตที่โดดเด่นของอินโดนีเซียในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา" โดยเขายินดีกับความคืบหน้าของอินโดนีเซียในการเป็นสมาชิก OECD โดยรายงานข่าวระบุว่า สำหรับอินโดนีเซียแล้ว การเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ซึ่งถูกมองว่าเป็น "สมาคมประเทศพัฒนาแล้ว" ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุปณิธานที่อินโดนีเซียมีมายาวนานในการเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)