ข่าวในประเทศ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. รื้ออุตฯ ไทยพึ่งกรีนโปรดัคติวิตี้ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2567)
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ว่า วางเป้าหมายให้ภาค อุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่คู่กับประชาชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ "สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง" ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่างๆ อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดการผลักดันการจัดตั้ง กองทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องผังเมือง โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง สำหรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้แข่งขันในเวทีโลกได้นั้น ในขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบด้วยกรีน โปรดัคติวิตี้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่า จะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับอีกหนึ่งนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตก้าวกระโดด คือ อุตสาหกรรมฮาลาล ล่าสุดมีความคืบหน้าไปมากหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ 3 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ขณะนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) แล้ว มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้ง "สถาบันฮาลาล" อย่างเป็นทางการแล้ว อยู่ภายใต้สถาบันอาหาร เพื่อขับเคลื่อนไปได้ก่อนในเบื้องต้น รวมทั้งกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-71) โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าเชิญชวนนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ลงทุน ล่าสุดมีตลาดใหญ่ของประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของซาอุดีอาระเบียสนใจอย่างมาก และมีประเทศบรูไนที่กำลังจะทำข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกันต่อไป
นายจุลพงษ์ ทวีศรี
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
2. ใช้ 4.9 ล้าน เคลียร์กากวินโพรเสส (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2567)
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาการกำจัดบำบัดวัตถุอันตรายของกลาง โดยใช้เงินวางศาลที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง วางไว้ต่อศาลอยู่เดิมจำนวน 4.9 ล้านบาท มาใช้บำบัดของเสียที่เป็นวัตถุอันตรายของกลาง ซึ่ง กรอ. ได้แจ้งบัญชีรายการของเสียอันตราย แนวทางการจัดการของเสีย แหล่งเงินค่ากำจัดบำบัดและแผนการดำเนินงาน ให้กับวิน โพรเสส ทราบล่วงหน้าแล้ว จากคำพิพากษา วิน โพรเสส สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการสำรวจได้สรุปบัญชีรายการของเสียอันตรายไว้ประมาณ 34,000 ตัน โดยประมาณค่าใช้จ่ายในการกำจัดบำบัดของเสียที่เป็นวัตถุอันตราย ไว้ประมาณ 340 ล้านบาท ไม่รวมถึงกรณีที่มีการลักลอบฝังหรือทิ้งวัตถุอันตรายลงดิน โดยหลังจากนี้จะของบประมาณ 2568 และงบกลาง เพื่อนำมาใช้ดำเนินการกำกับของเสียทั้งหมดต่อไป ทั้งนี้ ขณะเดียวกัน ได้เข้าพบ พล.ต.ต. พงศ์พันธ์ วงษ์มณีเทศ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ วิน โพรเสส พร้อมกันนี้ ผอ.กกอ.ได้เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้ วิน โพรเสส
อย่างไรก็ตาม ทีมเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.เอกณัฏฐ์ สกุลผุยมูล สารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานเก็บกากสารเคมี บริษัท วิน โพรเสส อีกแห่งที่ตั้งอยู่ใน ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง พบว่าโรงงานแห่งนี้ไม่มีคนงาน และ ปิดกิจการไปแล้ว ภายในโรงงานมีการเก็บของเสียในถังขนาด 200 ลิตร แท็งก์ขนาดใหญ่ และถัง IBC ที่บรรจุของเสียอันตราย และพบกองเศษพลาสติก กระดาษที่อยู่ในถุงบิ๊กแบ๊กสีขาวจำนวนมาก ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุ ที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 นอกจากนี้ ยังตรวจพบแฟ้มเอกสารเกี่ยวกับการรับของเสียมากำจัด เอกสารประกอบการขนส่ง และอื่นๆ กองทิ้งไว้ในพื้นที่โรงงานเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการยึดแฟ้มเอกสารเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีต่อไป
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
3. เอ็มพีไอเม.ย.พลิกบวก 3% (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2567)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ เดือนเมษายน 2567 กลับมาเป็นบวกกว่า 3% หลังติดลบต่อเนื่องมา 18 เดือนติด ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องปรับอากาศและปิโตรเคมีที่เป็นบวก แต่กลุ่มยานยนต์ยังคงติดลบ ทั้งนี้ เศรษฐกิจในภาพรวมก็ยังมีปัญหาทั้งภายในประเทศเองและภายนอกประเทศ อีกทั้งมูลค่าอุตสาหกรรมที่ยังต่ำแม้สินค้าจะยังพอขายได้แต่มูลค่าไม่สูง โดยมองว่าอุตสาหกรรมที่ไปได้ดีอย่างเห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้นทั้งส่วนที่เข้ามาเฉพาะแบรนด์ และอีกส่วนที่เข้ามาพร้อมลงทุนครบวงจร แต่ปัจจุบันยังไปไม่ได้หมด ส่วนอุตสาหกรรมเกษตรก็ยังคงเป็นไปตามฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม สศอ.ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยของบสนับสนุน 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย รวมถึงผู้ประกอบการว่าถ้ามีเงินเข้ามาแล้วจะเอาไปทำอะไร สิ่งที่พบ คือผู้ประกอบการก็ยังไม่รู้ว่าควรจะปรับปรุงและพัฒนาตรงไหนก่อน ส่วนนี้ต้องมาดูรายละเอียดต่อไป
ข่าวต่างประเทศ
4. แบงก์ชาติอิสราเอลคงดอกเบี้ยตามคาด ส่งสัญญาณไม่ปรับลดอีก เหตุเงินเฟ้อสูง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2567)
ธนาคารกลางอิสราเอล เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้ง พร้อมกับส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางอาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกหากเศรษฐกิจของประเทศยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ธนาคารกลางอิสราเอลมีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.5% ในการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยธนาคารกลางระบุว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ขณะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงไม่แน่นอนซึ่งเป็นผลมาจากการทำสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอิสราเอลได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 4.5% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี หลังจากเงินเฟ้อในเวลานั้นได้ชะลอตัวลงและเศรษฐกิจถูกกระทบจากสงคราม แต่ธนาคารกลางได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนเมษายน 2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)