ข่าวในประเทศ
นายภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. 'ภูมิธรรม' ลุยถกสิงคโปร์ เร่งกระตุ้น ศก.-ขยายลงทุน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2567)
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายกาน คิม ยอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ผ่านระบบการประชุมทางไกลว่า ในปี 2568 จะเป็นโอกาสครบรอบ 60 ปี ของความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการประชุมการค้าทวิภาคีไทยสิงคโปร์ (STEER) ครั้งที่ 7 เพื่อหารือแนวทางเพิ่มมูลค่าการค้า ขยายการลงทุนระหว่างกัน โดยสิงคโปร์รับจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ต่อเนื่องจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อปี 2565 ทั้งนี้ ได้ใช้โอกาสในการหารือนี้ผลักดันให้สิงคโปร์สนับสนุนการขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิกของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสุขอนามัยโดยสำนักงานอาหารสิงคโปร์ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์เพิ่มเติมจากไข่ไก่สดและไข่นกกระทาที่ไทยส่ง ออกไปได้แล้ว โดยปัจจุบันสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกไข่ไก่สดอันดับที่ 1 ของไทย ในเรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าฯ สิงคโปร์ยินดีที่จะติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ให้แก่ไทยต่อไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเป็นเสาหลักด้านดิจิทัลของภูมิภาค โดยจะผลักดันการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลในกรอบอาเซียน (DEFA) ที่ไทยเป็นแกนนำให้สรุปผลในปีหน้า ขณะที่สิงคโปร์ได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ตลอดจนความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในกรอบ WTO ในโอกาสนี้ ไทยได้แจ้งแผนงานขยายตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไปยังสิงคโปร์ โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำผู้ประกอบการสินค้าเกมและดิจิทัลคอนเทนต์เข้าร่วมงาน แสดงสินค้า Gamescom Asia 2024 ในเดือนตุลาคม 2567 และงาน Asia TV Forum & Market Singapore 2024 (ATF 2024) ในเดือนธันวาคม 2567 ที่ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันด้านการ ท่องเที่ยวเรือสำราญโดยเล็งเห็นถึงโอกาสการแสดงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาคที่หลากหลายและเชื่อมโยงกัน ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุมชนในท้องถิ่นสำหรับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการลดขั้นตอนการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างกัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัลของไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในอาเซียนซึ่งขยับขึ้นจากเดิมที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 โดยในปี 2566 การค้ารวมไทย - สิงคโปร์ มีมูลค่า 18,422.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (-0.3%) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2,065.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออก สำคัญของไทยได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจร ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และสินค้าเกษตรสำคัญที่ ส่งออกไปสิงคโปร์ ได้แก่ ไก่แปรรูปข้าวไข่ไก่สดขณะที่ไทยนำเข้า เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช จากสิงคโปร์
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
2. ดีอีจับตามาตรฐานสินค้าจากแอป TEMU (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2567)
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตรวจสอบแอปพลิเคชัน TEMU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ขนาดใหญ่ ร้านส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในจีน ว่า แพลตฟอร์มนี้ได้มาจดแจ้งที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีติดตามเรื่องการขายสินค้าราคาถูก ตัดช่องธุรกิจในประเทศไทยอยู่ การขายสินค้าของแพลตฟอร์มนี้ เป็นการขายสินค้าตรงจากทางโรงงาน หลายสินค้าไม่มีแบรนด์อาจทำให้สินค้าราคาถูก ซึ่งต้องเข้าไปดูองค์ประกอบด้วย เช่น คุณภาพสินค้า ที่มีการลดราคาสูงถึง 90% หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องติดตามดู ซึ่งต้องมีการคุยกันระหว่างหน่วยงานอื่นเพื่อควบคุมเรื่องมาตรฐานสินค้า อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ในส่วนของกระทรวงดีอี เราจะดูเรื่องแพลตฟอร์มเป็นหลัก เช่น จะต้องมีการคืนสินค้า การขนส่ง ส่วนเรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้าก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแล
อย่างไรก็ตาม หากแอปพลิเคชันดังกล่าวยังคงขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมีโอกาสที่จะสั่งปิดแพลตฟอร์มนี้หรือไม่ นั้น เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนจะเปิดหรือปิดแพลตฟอร์ม เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะการขายสินค้าของแอปพลิเคชันนี้ มีจำนวนมาก จะไปเหมารวมทั้งหมดเพียงเพราะมีสินค้าบางตัวที่ไม่ได้มาตรฐานและจะไปปิดแพลตฟอร์มไม่ได้ ยังไม่พบผู้เสียหายแจ้งมายัง ETDA เนื่องจากแพลตฟอร์มนี้เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน TEMU กำลังตีตลาดการค้าออนไลน์อย่างมาก เนื่องจากความสะดวกในการติดตามสินค้ามีโปรโมชันส่งฟรีมาก และคืนสินค้าได้ง่าย ซึ่งในสหรัฐอเมริกา TEMU มีรายได้ร่วม 6 พันล้านดอลลาร์
นายชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
3. ลุ้นส่งออกครึ่งปีหลังหวังโต 1-2% ท่ามกลาง 5 ปัจจัยลบ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2567)
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2567 โดยระบุว่า การส่งออกของไทยตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน มีมูลค่า 145,290 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,191,014 ล้านบาท ขยายตัว 7.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-มิถุนายน ขยายตัว 3.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,437,480 ล้านบาท ขยายตัว 8.3% ซึ่งการส่งออกไทยถือว่าทำได้ดีแล้ว โดยเป็นผลของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันฝ่ามรสุมและอุปสรรคในครึ่งปีแรก ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส ปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังก็หวังการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 1-2% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่จะมีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม 2. ปัญหาสหภาพแรงงานสหรัฐฯ ทั่วประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งการหยุดการผลิตและกระทบต่อการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิตกับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย 3. ต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ยังคงทรงตัวในระดับสูง 4. ปัญหาสินค้าล้นตลาดจากประเทศจีนที่ระบายออกสู่ตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยอีกนัยหนึ่ง รวมถึงเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ และ 5. การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม สรท. มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลดังนี้ 1. เร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกของไทย เพื่อรองรับการแข่งขันและการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว 2. เร่งส่งเสริมกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และสร้างโอกาสให้สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ 3. ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งด้วยการจองระวางเรือล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเส้นทาง 4. รัฐต้องกำกับดูแลสินค้าการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ต้อง เอื้อประโยชน์ให้กับซัพพลายเชนในประเทศ และ5. สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี ในเดือนมิ.ย. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2567)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้เกินดุลอยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน 2567 โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง นำโดยเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งนี้ สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 1.23 หมื่นล้านดอลลาร์ และนับเป็นการเกินดุลเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยตัวเลขล่าสุดนี้ได้รับแรงหนุนจากดุลการค้าสินค้าที่แข็งแกร่ง ซึ่งมีมูลค่ารวม 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และยังนับเป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15
อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.88 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน 2567 โดยยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น 50.4% ขณะที่อุปกรณ์สื่อสารและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็เพิ่มขึ้น 26% และ 8.5% ตามลำดับ สำหรับดุลบริการในเดือนมิถุนายน ขาดดุลอยู่ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่ขาดดุล 1.29 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)