ข่าวในประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
1. เตรียมพร้อมก่อนลงทุน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2567)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หม่อมหลวงภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานเปิดอบรมเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว: กฎหมายที่ธุรกิจต่างชาติต้องรู้ ณ ศูนย์ประชุม 1 ศตวรรษ ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่กลุ่มเป้าหมายให้เห็นความสำคัญของการประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลธุรกิจ และลดการกระทำผิดกฎหมายในประเทศไทยทั้งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะไม่มีความรู้ด้านการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทยที่ถูกต้อง และกลุ่มบุคคลที่จงใจกระทำผิดกฎหมายก็จะเห็นถึงโทษที่จะได้รับและหยุดการกระทำนั้นลง ประกอบกับขณะนี้กรมฯ ได้เปิดระบบยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวผ่านระบบหรือ e-Foreign Business ซึ่งจะทำให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสนใจและหลั่ง ไหลเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ไทยมากขึ้น ลดระยะเวลา และความยุ่งยากในการขออนุญาตลงทุน โดยที่ผ่านมากรมฯ พบว่า มีนิติบุคคลหลายรายยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 ทั้งในส่วนของการขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ข้อปฏิบัติตามกฎหมายเมื่อได้รับอนุญาตดำเนินธุรกิจแล้ว หรือธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจ ตลอดจนบทกำหนดโทษเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบกับมีข้อร้องเรียนจากภาคประชาชนให้ตรวจสอบคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในธุรกิจที่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมฯ ก่อน รวมถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ เช่น การขอใบอนุญาตทำงานหรือใบอนุญาตประกอบอาชีพสำหรับชาวต่างชาติ (Work Permit) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมการอบรมในวันนี้ กรมฯ ได้มุ่งเน้นไปที่นิติบุคคลต่างด้าว, ผู้แทนสำนักงานกฎหมาย และสำนักงานบัญชีเป็นหลัก โดยให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมครั้งนี้กว่า 230 ราย สาเหตุที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มนี้เพราะถือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงของการเปิดรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้กฎหมายธุรกิจของในประเทศไทยให้เข้าใจอย่างแท้จริง หรืออาจเลือกใช้ที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือบัญชีเป็นผู้แทนดำเนินการจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทยเปรียบเสมือนด่านหน้าที่ต้องพบและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักลงทุนก่อนที่จะดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งกับกรมฯ นั่นเอง ดังนั้น หากสำนักงานกฎหมาย และสำนักงานบัญชีสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสื่อสารแก่นักลงทุนต่างชาติให้ทราบถึงโทษที่จะได้รับหากกระทำการผิดกฎหมายก็จะลดความผิดพลาดในการทำธุรกิจและตัดวงจรการกระทำผิดในรูปแบบนอมินีในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
นายพรชัย ฐีระเวช
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
2. คลังมั่นใจ SME มีทางรอดหลัง NaCGA ช่วยทำให้ถึงแหล่งทุน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2567)
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) หวังยกระดับกลไกการค้ำประกันของภาครัฐ เพื่อช่วยให้ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนหลากหลายด้วยต้นทุนเหมาะสม NaCGA เป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การค้ำประกันมีความรวดเร็วและยืดหยุ่น พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ น้อยลง รูปแบบการค้ำประกันที่มีความหลากหลายและมีกลไกการคำนวณค่าธรรมเนียมค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้เป็นรายบุคคล ทั้งนี้ NaCGA มีเป้าหมายส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดต้นทุนทางการเงิน ตลอดจนให้ความรู้ และให้คำปรึกษาทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ โดย NaCGA ไม่จำกัดเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อจากธนาคาร แต่จะครอบคลุมถึงกระบวนการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ค้ำประกันแหล่งทุนจาก (Non-Bank) การค้ำประกันหุ้นกู้ของผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น โดย ค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันจะอิงตามระดับความเสี่ยง ของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะช่วย ลดต้นทุนทางการเงินในการเข้าถึงแหล่งทุนของ ผู้ประกอบการ SMEs ได้ ซึ่งการค้ำประกันสินเชื่อของ NaCGA จะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee Approach) และรายสัญญา ลูกหนี้จะขอให้ NaCGA ค้ำประกันเครดิตของตน และเมื่อได้รับ การค้ำประกันแล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกธนาคารหรือ Non-bank ให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของลูกหนี้มากที่สุด จึงเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ครบวงจรและเบ็ดเสร็จ NaCGA จะทำหน้าที่ในการให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายอีกด้วย รวมทั้งเป็นเครื่องมือผลักดันอุตสาหกรรม 8 กลุ่มเป้าหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยมีคณะกรรมการกำกับนโยบาย ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ กำกับนโยบายและทิศทางขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐในระยะยาวได้ ทำให้ภาครัฐสามารถส่งผ่านนโยบายในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศผ่านองค์กรนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง NaCGA นำไปสู่ระบบนิเวศ (Ecosystem) ใหม่สำหรับภาคธุรกิจไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ดังนี้ 1. ภาคธุรกิจและประชาชน เข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่ง เงินทุน ด้วยต้นทุนเหมาะสมกับความเสี่ยงของตนมากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ 2. สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ สามารถลดต้นทุน การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ลดภาระการตั้งสำรอง 3. หน่วยงานภาครัฐ มีเครื่องมือ ดูแลกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการค้ำประกันเครดิต หลากหลาย และมีฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิตสมบูรณ์ขึ้น และ 4. เศรษฐกิจไทย มีกลไกช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนช่วย ผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย ในอนาคต
นายวันชัย พนมชัย
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
2. เหล็กด้อยคุณภาพ ทุบเศรษฐกิจ 10 เดือนเสียหาย 126 ล้าน สมอ.ลุยคุมเข้ม (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2567)
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า 10 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าวไปแล้ว 670 ราย และส่งดำเนินคดีในชั้นศาลไปอีก 70 ราย เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยผู้บริโภค ทั้งนี้ มองว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงต้องการให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ทั้งกำลังคน และอุปกรณ์ในการตรวจสอบ จากปัจจุบันตรวจสอบระดับ 10-20% ก็อาจจะเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้นกว่านี้ เพราะต้องเข้าใจว่าสินค้าที่พบไม่ได้มาตรฐานเป็นการสุ่มตรวจและเป็นการที่สมอ.ได้รับข้อมูลและตรวจสอบติดตามจากตู้เก็บสินค้าหนึ่งไปอีกสินค้าหนึ่ง โดยจากตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มเหล็กไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. . และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. . คาดจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2568
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. . . เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง และควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยใช้กลไกของกฎหมายในการควบคุมและกำกับดูแล เพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล (ยูโร 6) รวมทั้งเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในด้านสุขภาพจากผลกระทบมลพิษทางอากาศ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568
ข่าวต่างประเทศ
4. GDP ญี่ปุ่นโตเกินคาดใน Q2 อานิสงส์ค่าจ้างสูงช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2567)
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 ของญี่ปุ่น ขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาด เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสและเทียบเป็นรายปี เนื่องจากค่าจ้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าอาจขยายตัว 0.5% และส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่ตัวเลข GDP หดตัวลง 0.6% ในไตรมาส 1 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 3.1% แข็งแกร่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอาจขยายตัวเพียง 2.1% และบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวหลังจากที่ GDP หดตัวลง 2.3% ในไตรมาส 1 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดการณ์ไว้ว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า และอาจเปิดทางให้ BOJ สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา BOJ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี จากเดิมที่ระดับ 0%-0.1% และประกาศแผนลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งใหญ่ หลังจากที่ใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลานานถึง 10 ปี
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)