ข่าวในประเทศ
นายภาสกร ชัยรัตน์
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)
1. ทุ่ม 1,700 ล้าน ปลุกเอสเอ็มอี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 6 กันยายน 2567)
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยถึงแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปีงบประมาณ 2568 ว่า ดีพร้อมได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2567 ได้รับ 1,200 ล้านบาท ทำให้ปีงบใหม่นี้มั่นใจจะช่วยเหลือ เอสเอ็มอีทั้งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่ให้แข่งขันในประเทศและตลาดโลกได้ เพราะเอสเอ็มอีคือฐานรากเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ โดยปีงบ 2568 จะเน้นสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย นอกจากนี้ เพื่อเดินหน้านโยบาย "RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ด้วยการมุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเครื่องดื่มไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้เติบโตได้ในระดับสากลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงได้จัดงาน "CRAFT DRINK by DIPROM ศาสตร์และศิลป์เครื่องดื่มไทย นำธุรกิจไกลสู่สากล" ขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน เวลา 10.00-22.00 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม และเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างเต็มที่ และตอกย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน โดยชูสินค้า 3 กลุ่มหลักสำคัญ ได้แก่ กาแฟ โกโก้ และสุราพื้นบ้าน จาก 120 ร้านค้าทั่วประเทศ หวังยกระดับสินค้าชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ พร้อมพัฒนาตลาดสินค้าเครื่องดื่มชุมชนเหล่านี้ให้เป็นที่แพร่หลายไปสู่ระดับโลก
อย่างไรก็ตาม งานนี้เป็นการสร้างปรากฏการณ์การรวมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของไทย ที่มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอาหารของไทย อีกทั้ง ยังได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากกลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนจากทุกภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ตั้งเป้ามีผู้ร่วมงานมากกว่า 100,000 คน และต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท ตลอดการจัดงาน 6 วัน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
2. ค้าชายแดนทะลุ 1 ล้านล้านบ. (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 6 กันยายน 2567)
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 158,101 ล้านบาท ขยายตัว 21.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นการส่งออก 87,089 ล้านบาท และการนำเข้า 71,011 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 16,078 ล้านบาท สำหรับการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วง 7 เดือนของปี 67 มีมูลค่าการค้ารวม 1.07 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออก 621,405 ล้านบาท และการนำเข้า 448,979 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าในช่วง 7 เดือนของปี 2567 ทั้งสิ้น 172,427 ล้านบาท ทั้งนี้ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มาเลเซีย มีมูลค่าสูงสุด 30,228 ล้านบาท เพิ่ม 32.9% รองลงมา คือสปป. ลาว 21,941 ล้านบาท เพิ่ม 12.3% เมียนมา 15,721 ล้านบาท ลบ 14.0% และกัมพูชา 14,859 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกชายแดนสำคัญ ได้แก่ น้ามันดีเซล 2,870 ล้านบาท ส่วนประกอบเครี่องโทรสารและโทรศัพท์ 2,099 ล้านบาท และน้ามันสำเร็จรูปอื่น ๆ 1,464 ล้านบาท ส่วนการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม ไปจีน มีมูลค่าสูงที่สุด 43,734 ล้านบาท เพิ่ม 24.6% รองลงมาคือสิงคโปร์ 8,515 ล้านบาท และเวียดนาม 7,470 ล้านบาท ซึ่งสินค้าสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด 9,740 ล้านบาท ยางแท่ง 4,072 ล้านบาท และฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 3,184 ล้านบาท ซึ่งการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยการส่งออกชายแดนและผ่านแดนขยายตัวในทุกหมวด ทั้งสินค้าเกษตรกรรม เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 24.6% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ามันปาล์มเพิ่ม 4.4% สินค้าอุตสาหกรรม เช่นฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และแล็ปท็อปเพิ่ม 15.9% และสินค้าพลังงาน เช่น น้ำมันดีเซล และน้ามันสำเร็จรูปอื่น ๆ เพิ่ม 3.4%
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ยังมีอยู่สูง รวมถึงความต้องการยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เช่น น้ายางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และไม้ยางพาราแปรรูป ขยายตัวสูงในตลาดมาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2567 ซึ่ง กรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนการยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน และในปีงบประมาณ 2568 กรมฯ มีแผนจะขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
3. อาหารราคาขยับขึ้นดันเงินเฟ้อส.ค.เพิ่มร้อยละ 0.35 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 6 กันยายน 2567)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2567 เท่ากับ 108.79 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.41 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว ที่ร้อยละ 0.35 (YoY) โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ อัตราเงินเฟ้อมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนัก และอุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และอาหารตามสั่ง ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า) ราคาปรับลดลง สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.35 (YoY) ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อ หักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.62 (YoY) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่สูงขึ้น ร้อยละ 0.52 (YoY) ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (MoM) ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2. ผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ราคาผักสดและผลไม้สด ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกในบางพื้นที่ ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น และ 3. สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความ ไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่ 1. ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่า ปีก่อนหน้าตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ 2. ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบดูไบในปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หรืออาจจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวระดับต่ำ และ 3. การลดราคาสินค้าและการแข่งขันในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีก ในประเทศ และการค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ทำให้สินค้า จำนวนมากปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 0.0-1.0 (ค่ากลาง ร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3 เดือนติด ในเดือนก.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 6 กันยายน 2567)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้เกินดุล 9.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2567 นับเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ตัวเลขเกินดุลในเดือนกรกฎาคม ลดลงจากเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ที่ 1.256 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นตัวเลขเกินดุลสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 โดยดุลการค้าสินค้าของเกาหลีใต้เกินดุล 8.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม ลดลงจาก 1.174 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ยอดส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบเป็น รายปี สู่ระดับ 5.864 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.4% เป็น 5.014 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ด้านรายได้ปฐมภูมิ (Primary Income) ซึ่งติดตามข้อมูลค่าแรงของแรงงานต่างชาติ เงินปันผลที่ได้รับจากต่างประเทศ และรายได้จากดอกเบี้ย เกินดุล 3.15 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.71 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน สำหรับดุลบริการในเดือนกรกฎาคม ขาดดุล 2.38 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่ขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)