ข่าวในประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
1. สอท. คาดน้ำท่วมศก.สูญ 2.7 หมื่นล. (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังประชุมทางไกลร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่กำลังประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมเบื้องต้นคาดว่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและ ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประมาณ 25,000-27,000 ล้านบาท สำหรับข้อมูลปริมาณน้ำที่ท่วมเกิดจากน้ำป่าที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่และน้ำที่ไหลทะลักมาจากประเทศเมียนมาที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนกับประเทศไทย ทำให้มีมวลน้ำรวมกันประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงในรอบ 80 ปี ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรทั้งไร่นา สวนพืชเกษตรของไทยได้รับความ เสียหาย ที่รุนแรง และที่สำคัญคาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีมวลน้ำก้อนใหม่ไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่อีก 700 ล้านลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจากการประชุมดังกล่าว พบว่ามีสมาชิกส.อ.ท.ในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหาย 60 บริษัท จึงได้สั่งการให้ส.อ.ท.เชียงรายประเมินมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจน เพื่อหามาตรการเยียวยาในเบื้องต้นภายในสัปดาห์นี้ พร้อมได้กำชับให้สมาชิกส.อ.ท. ที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ขอให้เร่งเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ เพื่อผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนขณะนี้และหลังน้ำท่วมให้สามารถนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในพื้นที่หรือร่วมบริจาคให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที ซึ่ง ส.อ.ท.จะช่วยเหลือสมาชิกส.อ.ท.ในพื้นที่น้ำท่วม โดยส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปช่วยฟื้นฟู/ซ่อมแซมกิจการเป็นการเร่งด่วนต่อไป
นายจุลพงษ์ ทวีศรี
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
2. 'กรอ.' คุมเข้มเมทานอล หวังช่วยสกัดการผลิตเหล้าปลอม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2567)
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. ได้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอันตรายจากพิษเมทานอล (Methanol) โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เช่น กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการควบคุมการผลิตและจำหน่ายสุราผิดกฎหมาย รวมถึงหาแนวทางการควบคุม กำกับดูแลการผลิตและจำหน่ายสุราผิดกฎหมายหรือสุราปลอมที่อาจมีส่วนผสมของเมทานอล ที่เป็นสารเคมีที่เป็นพิษมาผลิตเป็นสุราปลอม ทั้งนี้ เมทานอลเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ที่ กรอ.รับผิดชอบ โดยมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมเพื่อนำไปใช้เพื่อการอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ซึ่งผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และผู้มีไว้ในครอบครอง จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ กรอ.ประกาศกำหนด เช่น การแจ้งข้อเท็จจริงของการนำเข้าหรือส่งออก (การแจ้งวอ./อก.6) การแจ้งข้อเท็จจริงในการครอบครอง หากมีปริมาณตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป (การแจ้ง วอ./อก.7) โดยกำหนดให้แจ้งปีละ 2 ครั้ง การติดฉลากแสดงความเป็นอันตรายและคำเตือนในการใช้งานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นต้น และหากไม่ดำเนินการตามที่ประกาศกำหนด จะมีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดี ดังนี้ 1. กรณี บริษัทวิน โพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง โดยล่าสุดศาลจังหวัดระยอง ได้มีคำพิพากษาว่าวิน โพรเสสมีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้จำเลยทั้ง 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมควบคุมมลพิษ เป็นเงินจำนวน 1,743.6 ล้านบาท 2. กรณีบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดราชบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับคดีแพ่งและคดีอาญาในขั้นพนักงานอัยการจังหวัดราชบุรี 3. กรณีโรงงานของบริษัท เอส. ซี. อินดัสทรีจำกัด อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับบริษัท 4. กรณีโรงงานของบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ล่าสุดศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา พิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทย์ 5. ความก้าวหน้าการดำเนินคดีโรงงานของบริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขากลางดง) จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้คดีอาญาอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดสีคิ้ว ในวันที่ 19 กันยายน 2567 และ 6. กรณีลักลอบทิ้งสารอันตรายในพื้นที่ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานอัยการจังหวัดลพบุรี
นายจุฬา สุขมานพ
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี???????
3. "อีอีซี" ปักธงปี 68 คิกออฟศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2567)
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ในขณะนี้ อีอีซี เตรียมเสนอขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2561 ที่ให้สิทธิ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ MRO อู่ตะเภา บนพื้นที่ 210 ไร่ เนื่องจากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว และทางแอร์บัสมีการถอนตัวไป แนวทางนี้จึงไม่สามารถทำได้ ซึ่งต้องรอให้มีการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ประธานบอร์ด กพอ.) คนใหม่ก่อน จากนั้นจะเร่งเสนอไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ เมื่อ ครม.เห็นชอบยกเลิกมติ ครม.ปี 2561 อีอีซีจะนำพื้นที่มาเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ประกอบการโครงการ MRO โดยมีเป้าหมายเริ่มดำเนินการในปี 2568 เพื่อให้ MRO แล้วเสร็จพร้อมหรือก่อนที่สนามบินอู่ตะเภาจะเปิดให้บริการ เพราะเมื่อทางวิ่งเส้นทางที่ 2 (รันเวย์ 2) ก่อสร้างเสร็จ ส่วนของ MRO ก็สามารถให้บริการได้ทันทีเนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้สนามบินอู่ตะเภามีบริการที่ครบวงจร และรองรับความต้องการซ่อมบำรุงอากาศยานภายในประเทศอีกด้วยทั้งนี้ จากการพูดคุยกับการบินไทยล่าสุด แจ้งว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยให้เดินหน้าโครงการ MRO เพราะมองว่าธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานจะสร้างรายได้ให้การบินไทย และบริษัทมีความพร้อมดำเนินโครงการ โดยอาจจะร่วมกับสายการบินคนไทย และทราบว่าการบินไทยได้พูดคุยกับบางกอกแอร์เวย์สไปบ้างแล้ว ซึ่งอีอีซีเห็นว่าคนไทยควรมีส่วนในโครงการ MRO อู่ตะเภา เพราะจะทำให้สายการบินของคนไทยมีศูนย์ซ่อมเครื่องบินของตัวเองไม่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ เป็นการสร้างแต้มต่อทางอุตสาหกรรมด้วย แต่หากเป็นต่างชาติลงทุนหมดก็จะแปลก เพราะคนไทยเป็นลูกค้าใช้บริการเสียค่าซ่อมเงินออกนอกประเทศ กลายเป็นโครงการไม่ได้ช่วยคนไทยและประเทศไทยเลย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรูปแบบการคัดเลือกผู้ลงทุน MRO อู่ตะเภานั้นอีอีซีจะต้องสอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด หลักการคือ เมื่ออีอีซีขอยกเลิกมติ ครม.เพื่อนำพื้นที่คืนมา และขอครม.นำพื้นที่เปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมดำเนินการ เป็นการให้เช่าพื้นที่ ซึ่งตามระเบีบบอีอีซี การนำทรัพย์สินหาประโยชน์จะต้องประมูล แต่อาจจะไม่ใช้วิธีประมูลได้ หากมีผู้ประกอบการน้อยราย อาจใช้วิธีเปิดให้ผู้สนใจให้เข้ามายื่นข้อเสนอเนื่องจากผู้ที่เข้ามาลงทุนก็ต้องมีลูกค้าจึงจะคุ้มค่า MRO อู่ตะเภาจะเป็นฐานใหญ่ซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะมีสายการบินของประเทศไทยเป็นลูกค้าหลัก ซึ่งนอกจากการบินไทยแล้วยังมีสายการบินเวียตเจ็ท ที่มีฝูงบินขนาดใหญ่เคยมาคุยกับอีอีซี แสดงความสนใจ MRO เช่นกัน ซึ่งสายการบินต้นทุนต่ำ ใช้เครื่องบินลำตัวแคบ คือ แอร์บัส A 320 และโบอิ้ง B 737 จำนวนมาก และมีปัญหาต้องหาศูนย์ซ่อมตามวงรอบ ศูนย์ซ่อมใกล้สุดคือ สิงคโปร์ และจีน แต่ทั้งสองแห่งก็คิวจองเต็มมาก ส่วนมาเลเซียก็เป็นซ่อมเล็กกว่า จึงรองรับไม่ไหว คิวรอซ่อมยาวบางครั้งหลุดวงรอบการซ่อมกลายเป็นปัญหา
ข่าวต่างประเทศ
4. อินโดนีเซียเปิดโรงงานแบตเตอรี่ EV ใช้พลังงานหมุนเวียนแห่งแรก (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2567)
นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานประจำกระทรวงกิจการเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า อินโดนีเซียได้มีการเปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แห่งแรกที่จะดำเนินงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดเมื่อวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ณ นิคมอุตสาหกรรมนีโอ เอเนอร์จี โมโรวาลี ในจังหวัดสุลาเวสีกลาง โดยโรงงานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปลายน้ำด้านแร่ธาตุที่สำคัญ ซึ่งมุ่งกระตุ้นความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับสวัสดิการสาธารณะ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับกระบวนการแปรรูปนิกเกิลปลายน้ำที่ประสบความสำเร็จได้เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนิกเกิลเป็นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 เป็น 3.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียมีศักยภาพด้านการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก ด้วยกำลังการผลิตต่อปีราว 210 กิกะวัตต์ชั่วโมง เนื่องจากมีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะนิกเกิล โดยโรงหลอมแร่ด้วยกรดแรงดันสูงของโรงงานแห่งนี้จะแปรรูปแร่นิกเกิลเป็นตะกอนไฮดรอกไซด์ผสม (MHP) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิต ขั้วแคโทดของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มกำลังการผลิตตะกอนไฮดรอกไซด์ผสมแก่ประเทศปีละ 1.2 แสนตัน ทั้งนี้ ด้านกระทรวงการลงทุน กล่าวว่า การลงทุนทั้งหมดในกิจกรรมปลายน้ำด้านนิกเกิล โดยเฉพาะโรงหลอมแร่และการพัฒนาโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย มีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)