ข่าวในประเทศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
1. สศอ.ชี้ 5 เทรนด์ฮาลาลมาแรงโอกาสทองผู้ประกอบการไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2567)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากประชากรมุสลิม ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นและกระจายตัวอยู่ทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลก โดยเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิมมีอัตราขยายตัวเร่งขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก อีกทั้งประเด็นความไม่มั่นคงทางอาหารในกลุ่มประเทศมุสลิม ยังส่งผลต่อความต้องการสินค้าฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิม ได้หันมาสนใจสินค้าฮาลาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และความโปร่งใสในการผลิต ทั้งนี้ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมฮาลาลโลก มีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2027 ทั้งนี้ยังมีความครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น ยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดจากการวิเคราะห์ของ สศอ. พบ 5 เทรนด์สินค้าและบริการฮาลาลที่น่าจับตามอง ได้แก่ 1. เครื่องสำอางฮาลาล ความงามที่ปลอดภัยและถูกหลักศาสนา 2. แฟชั่นฮาลาล สุภาพ เรียบหรู งามสง่า ทันสมัย 3. Halal Tourism ดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิมจากทั่วโลก 4. ยาฮาลาล นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และ 5. อาหารฮาลาล ดาวเด่นที่ยังมาแรง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสินค้าฮาลาลไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในด้านคุณภาพและมาตรฐาน เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการรับรองฮาลาลที่เข้มงวดและได้รับการยอมรับ ผู้ประกอบการไทยจึงมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดฮาลาลระดับโลก โดยรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของตลาดฮาลาล โดยได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดฮาลาลระดับโลก
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์
2. DITP ชี้ช่องผลิตสินค้า เจาะตลาดเนเธอร์แลนด์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2567)
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.ชนรรค์ดา สรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ถึงเทรนด์ความยั่งยืนในตลาดเนเธอร์แลนด์ ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้อง สิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันทั้งการใช้ชีวิต การใช้รถ ที่อยู่อาศัย การจัดการขยะ การใช้พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียน และโอกาสในการขยายตลาดส่งออกของไทย ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาและแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน โดยมุ่งมั่นและแน่วแน่ต่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทรกซึมอยู่ในทุกแง่ทุกมุมของชีวิตประจำวัน ทั้งการคมนาคมขนส่ง ที่อยู่อาศัย และแสงสว่าง เป็นต้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของเนเธอร์แลนด์ ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วยการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์ทางภาษีการอุดหนุนทางการเงิน การเพิ่มสถานีชาร์จ และยังมีการใช้จักรยานไฟฟ้ามากขึ้น จนกลายเป็นประเทศที่ใช้จักรยานมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการลดขยะและการรีไซเคิล ส่งเสริมโครงการปลอดพลาสติก เช่น การคืนขวดน้ำพลาสติกที่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฝาขวดพลาสติกบนขวดน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีความจุไม่เกิน 3 ลิตร ต้องติดอยู่กับขวดหลังจากเปิดใช้งาน และสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน อาทิ โครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ โครงการรีไซเคิล การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และโครงการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน โดยรัฐบาลพร้อมร่วมมือกับภาคธุรกิจในการขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเจาะหรือขยายตลาดมายังเนเธอร์แลนด์ต้องศึกษาเทรนด์และแนวโน้มของตลาด รวมถึงพฤติกรรม ผู้บริโภค เพื่อสร้างนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนในอนาคต เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์เองหรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์ก็มี ความสำคัญ วัสดุที่ใช้จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุที่มีความยั่งยืน เช่น ไม้ไผ่ เส้นใยธรรมชาติ และวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นต้น รวมถึงการออกแบบที่คำนึงถึงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัด เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของสินค้าไทย และโอกาสในการเข้าถึงตลาดเนเธอร์แลนด์มากขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ร่วง เอกชนผวาต้นทุนพุ่ง-กำลังซื้อวูบ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลง จาก 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยมีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม 2567) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัว 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุกเนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ และผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลงในด้านการส่งออกอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือน ก.ค. 2567 เป็น 34.92 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งและส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคในประเทศจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวน 23,567,850 คน ขยายตัว 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 1,107,985 ล้านบาท
ข่าวต่างประเทศ
4.“เฟด” ปรับลดดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ตามคาด นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี (ที่มา: การเงินธนาคารออนไลน์, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2567)
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 11 ต่อ 1 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันนี้ ตามการคาดการณ์ของตลาด การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากไม่นับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งสุดท้ายที่เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เกิดขึ้นในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2569
อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้ว Dot Plot บ่งชี้ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2.00% หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น เฟดคาดการณ์การขยายตัวในปี 2567, 2568, 2569 และ 2570 อยู่ที่ระดับ 2.0% ทุกปี หลังจากคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะมีการขยายตัว 2.1%, 2.0% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ 1.8% นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2567, 2568, 2569 และ 2570 อยู่ที่ระดับ 4.4%, 4.4% และ 4.3% และ 4.2% ตามลำดับ หลังจากคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.0%, 4.2% และ 4.1% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ 4.2% ขณะเดียวกัน เฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567, 2568, 2569 และ 2570 อยู่ที่ระดับ 2.6%, 2.2%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ หลังจากคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.8%, 2.3% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)