ข่าวประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'สมอ.' ผนึก 'กรมศุลกากร' เปิดศูนย์ฯ คุมเข้มสินค้าไร้มาตรฐาน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินหน้ามาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ภายใต้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ กรมศุลกากร ดำเนินการปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ที่นำเข้ามาโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายและไม่เกินจำนวนที่กำหนด หรือ EXEMPT 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ตนได้เร่งรัดให้ สมอ. หารือกับกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อยกระดับการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การนำเข้า การผลิต และการจำหน่าย ให้สินค้าถึงมือประชาชนด้วยความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ตนได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เพื่อรับโอกาสใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ.ได้ร่วมกับกรมศุลกากร ปิดช่องทาง EXEMPT 5 และเปิดเป็น "ศูนย์ เฉพาะกิจรับแจ้งการนำเข้า" ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเดิม EXEMPT 5 เป็นช่องทางที่อาจมีผู้นำเข้าอาศัยช่องว่างดังกล่าว ลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศ จึงต้องทำการปิดช่องทางนี้ และเปิดให้มายื่นขอบริการผ่านทางช่องทาง National Single Window (NSW) แทน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการและประชาชนมีความประสงค์จะนำเข้าสินค้าควบคุมทั้ง 144 รายการ ไม่ว่า จะเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด หรือเป็นการนำเข้ามาในจำนวนเพียงไม่กี่ชิ้นก็ตาม จะต้องดำเนินการยื่นคำขอผ่านทางระบบ NSW เพื่อแจ้งข้อมูลการนำเข้ากับ สมอ. ในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น สำหรับศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการนำเข้า มีผู้ประกอบการและประชาชนเข้ามารับบริการแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการนำเข้า ได้ที่ชั้น 1 สมอ. หรือ โทร. 02-4306815 ต่อ 3001-3003 ในวันและเวลาราชการ

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ส.อ.ท.จับมือธพว. เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสภาพปัญหาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือสงครามระหว่างประเทศสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงสงครามทางการค้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นภัยคุกคามของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปรับตัวเพื่อทำให้สามารถแข่งขันได้ โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ก็กำลังประสบกับปัญหาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรม ต้นทุนการผลิตที่สูง ขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลิตภาพแรงงานต่ำและขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดและการทุ่มตลาด ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเร่งพัฒนา และยกระดับการผลิตให้เกิดความเข้มแข็ง รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.โดยคณะกรรมการสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) และคณะกรรมการจากสายงานส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ต้อนรับนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank พร้อมผู้บริหารธนาคารซึ่งการมาครั้งนี้เพื่อเข้ามาหารือแนวทางการส่งเสริมสมาชิก ส.อ.ท. ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะโปรแกรมสินเชื่อ SME Green Productivity ที่กำหนดดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปี พร้อมทั้งสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ซึ่งจากการหารือ ทางธนาคาร SME D Bank จะจัดทีมลงพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อไปให้บริการ พร้อมคำปรึกษา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับสมาชิก ส.อ.ท. เป็นกรณีพิเศษ โดยให้ทาง 18 กลุ่มจังหวัดรวบรวมรายชื่อสมาชิกที่มีความประสงค์กู้เงินหรือยื่นขอกู้แล้วไม่ผ่าน หรือมีปัญหาในขั้นตอนการพิจารณา โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยสมาชิกทั้งประเทศให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อจาก SME D Bank ได้

 

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

3. กนอ.กระชับพื้นที่รับมือน้ำท่วมเต็มพิกัด (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2567)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ทดสอบระบบระบายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ ดังนี้ 1. มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถแจ้งเตือนและป้องกันได้ทันท่วงที และ 2. ประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว 100% แต่ต้อง    เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหกอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ขณะที่นิคมในพื้นที่อื่นๆ มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้เกือบครบทุกนิคมอุตสาหกรรม ยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมบางปูที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่ต้องมีการเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันและมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด, ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่, ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100%

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red circle and black lines

Description automatically generated

 

4. ทุนสำรอง FX เกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 3 เดือนติดในเดือนก.ย. อานิสงส์ดอลล์อ่อนค่า (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2567)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 4.05 พันล้านดอลลาร์ แตะที่ระดับ 4.1997 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 3 โดย BOK ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์สกุลเงินอื่นๆ มีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.9% ในเดือนกันยายน ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศประกอบด้วยหลักทรัพย์และเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ, สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), สิทธิพิเศษถอนเงิน และทองคำแท่ง สำหรับทุนสำรองที่อยู่ในรูปของหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 88.9% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั้งหมด โดยมีมูลค่า 3.733 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 3.86 พันล้านดอลลาร์จากเดือนสิงหาคม ส่วนทุนสำรองที่อยู่ในรูปของเงินฝากอยู่ที่ 2.228 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 240 ล้านดอลลาร์จากเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ BOK ระบุว่า เกาหลีใต้ มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ณ สิ้นเดือนสิงหาคม   

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)