ข่าวประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ยกระดับแข่งเวทีโลก (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่กับนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME และ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อพัฒนาศักยภาพสร้างความเท่าเทียมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมในการให้ความสำคัญ Save อุตสาหกรรมไทยสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดย SME มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จากรายงานสถานการณ์ SME ไทย ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2566 พบว่า มีผู้ประกอบการกว่า 3.24 ล้านราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต (สอจ.ภูเก็ต) จึงได้ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค ผ่านกิจกรรม สร้างงาน สร้างอาชีพ และการกระจายรายได้ ให้คำปรึกษาพัฒนาบรรจุภัณฑ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ทางด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ยังได้จัดฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะด้านการบริหารจัดการในทุกมิติผ่านกระบวนการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจสู่การพัฒนาศักยภาพให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้เชิญ ธพว. มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการและให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในภูเก็ต โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งเข้าใจถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในโครงการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เรียกว่าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมหรือ คพอ. (ดีพร้อม) สำหรับภูเก็ตมีการดำเนินงานมาแล้วทั้งหมด 7 รุ่น ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการและสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะสนับสนุนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้

 

A person sitting in a chair holding a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

2. ผลพวงน้ำท่วมฉุดเงินเฟ้อก.ย.พุ่ง 0.6% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนกันยายน 2567 ว่ามีค่าเท่ากับ 108.68 เมื่อเทียบกับกันยายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.02 ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.61% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนกันยายนสูงขึ้น 0.61% เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงผักสดบางชนิดมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น หลังได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูก โดยเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน สูงขึ้น 0.20% สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2567 คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 1.25% ส่งผลให้ไตรมาส 4 จะปรับขึ้นอีก เพิ่มสูงขึ้น 1.49% เนื่องจากราคาดีเซลภายในประเทศปัจจุบันกำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร รวมทั้งยังจะมีผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะผักสด และสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงฤดูท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 จากเดิม 0.0-1.0% เป็นระหว่าง 0.2-0.8% แต่ค่ากลางยังอยู่ที่ 0.5% เท่าเดิม แต่ก็ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เงินเฟ้อปีนี้ อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่อาจจะมีการขยายวงกว้างและส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น รวมทั้งยังมีผลกระทบจากน้ำท่วมในประเทศ นอกจากนี้ สนค.ได้สำรวจผลของมาตรการแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านร้านค้าทั่วประเทศ 133 แห่ง พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร ยอดขายเพิ่มขึ้น 65.2% ร้านเนื้อสุกร เพิ่มขึ้น 56% ร้านไข่ไก่ เพิ่มขึ้น 51.5% ร้านไก่สด เพิ่มขึ้น 49.3% ร้านผลไม้ เพิ่มขึ้น 51.1% ร้านขายของชำ เพิ่มขึ้น 61.7% เป็นต้น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล

ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

 

3. FETCO ชี้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้า ดันตลาดหุ้นไทย 'ร้อนแรงอย่างมาก' (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2567)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกันยายน 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-30 กันยายน 2567) พบว่า ดัชนี ICI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรงอย่างมาก" ที่ระดับ 175.64 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดนับแต่ทำการสำรวจ โดยนักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมาก ที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ และความผันผวนของค่าเงินบาท ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธันวาคม 2567) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรงอย่างมาก" (ช่วงค่าดัชนี 160-200) ที่ระดับ 175.64 ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรงอย่างมาก" หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์ (AUTO) ส่วนปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าของเงินทุน ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยูโรโซน อังกฤษ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทางการจีนทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านตลาดทุน รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการเติมโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งอาจจะกระทบการส่งออก แนวทางของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งถัดไป การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2567 และการเริ่มเข้าลงทุนในกองทุนวายุภักษ์

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with a yellow star

Description automatically generated

 

4. เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 3/2567 โตสูงกว่าคาดที่ 7.4%YoY หนุนโดยการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม (ที่มา: ทันหุ้น, ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2567)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 3/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 7.40%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลการสำรวจของ Bloomberg ที่ 6.1% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่ 7.09%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว โดยการส่งออกเติบโตที่ระดับ 15.3%YoY ในไตรมาสที่ 3 เร่งตัวขึ้นจาก 13.9%YoY ในไตรมาสที่ 2 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องจักรและสินค้าเกษตร ประกอบกับการนำเข้าที่ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีการผลิตของภาคอุตสาหกรรมก็เติบโต  เร่งขึ้นมาที่ระดับ 10.5%YoY ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสะท้อนการเร่งการผลิตเพื่อตอบโจทย์การส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วน การบริโภคภาคครัวเรือน แม้ว่ายอดค้าปลีกจะเติบโตชะลอลงในไตรมาสที่ 3 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ชะลอตัวลงในอัตราใกล้เคียงกัน ส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว

อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจาก 9 เดือนแรกที่เติบโต 6.75%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลงจากปัจจัยพื้นฐานสูงในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน ประกอบกับผลกระทบเชิงลบของพายุไต้ฝุ่นยางิต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เวียดนามเหนือ โดยหลักๆ คือ เมืองไฮฟองและจังหวัด Quang Ninh แต่ก็รวมถึงกรุงฮานอย จังหวัด Bac Ninh, Bac Giang และ Thai Nguyen ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 55% ของการส่งออกรวมของเวียดนาม ทั้งนี้ การส่งออกที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 มองว่ามาจากการใช้สต๊อกสินค้าที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการเร่งการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.6% จาก 6.0% จากตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3/2567 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก จากการฟื้นตัวของการส่งออกซึ่งมีการ     ปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2024 มาอยู่ที่ระดับ 12.6% จากเดิม 7.5%

 

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)