ข่าวประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายพิชัย นริพทะพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. 'พิชัย' ร่วมถกรมต.เศรษฐกิจอาเซียน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2567)

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่า ได้หารือทิศทางอาเซียนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำอยู่ที่ 3.2% จากปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น แต่เศรษฐกิจอาเซียนยังมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 4.6% ในปี 2567 ซึ่งขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าจะต้องเสริมสร้างการรวมกลุ่มให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เน้นการค้าภายในภูมิภาค และจะต้องเร่งสรุปผลการยกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) พร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ๆ ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล โดยที่ประชุมถกเข้มถึงแนวทางการผลักดันการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนให้คืบหน้าอย่างน้อย 50% ในปี 2567 โดยมุ่งให้ความตกลงมีมาตรฐานที่สูง มองไปข้างหน้าและสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบและรับรองเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจสำคัญ 5 ฉบับหลัก อาทิ การลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียน โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการยกระดับด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี, ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน เป็นต้น โดยเน้นการเจรจาและการปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีภายในและภายนอกของอาเซียน ตลอดจนเอกสารผลลัพธ์ด้านการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะแนวทางในการลดการเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนให้การรับรองในวันที่ 9 ตุลาคม 2567

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. จีนเองยังไม่ยอมรับ สินค้าด้อยคุณภาพ หนุนไทยคุมเข้มนำเข้า (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูก และไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด หลังกระทรวงพาณิชย์รับเป็นเจ้าภาพประสานกับ 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่ง ณ เวลานี้ภาพรวมสถานการณ์สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เข้ามาทุ่มตลาดในไทยยังไม่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะมาตรการในการกำกับดูแลและติดตามแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เวลานี้การนำเข้าสินค้าก็ยังมีอยู่มาก และยังเข้ามาต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนที่ถือเป็นโรงงานของโลก และมีต้นทุนที่ถูก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวของของไทยต้องเร่งหามาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกับไทย แต่รับมือได้ดีกว่า ทำให้สินค้าราคาถูกนำเข้าจากต่างประเทศแม้จะยังเข้าไปได้บ้าง แต่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมที่พอรับมือได้ แต่ของไทยหากเปรียบเทียบเปรียบเสมือน "น้ำท่วมมิดหัว ไม่มีอากาศจะหายใจแล้ว" เพราะยังมีการนำเข้าต่อเนื่อง หากยังปล่อยไปเช่นนี้ อีกไม่นานคงล้มหายตายจากกันไปหมด โดยโรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ทยอยปิดตัวมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยสำคัญจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด อีกด้านหนึ่งผลพวงจากหลายอุตสาหกรรมของไทยเริ่มมีความล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ สถิติในปี 2566 มีโรงงานไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปิดตัวไป 2,125 แห่ง และช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 ปิดตัวอีก 667 แห่ง

อย่างไรก็ตาม สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาดัมพ์ตลาดภายในของไทยในเวลานี้ ยังส่งผลกระทบต่อดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ของไทย ล่าสุดอัตราการใช้กำลังผลิตหรือการใช้เครื่องจักรในภาพรวมยังอยู่ที่ระดับ 58-59% ยังไม่พ้นระดับ 60% มาเป็นเวลานนาน ซึ่งในความเป็นจริงการที่ผู้ประกอบการจะขยายการลงทุนใหม่ การใช้กำลังการผลิตจะต้องอยู่ที่ระดับ 75-80% ขณะเดียวกันเพื่อลดผลกระทบของปัญหา และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทย จะต้องมีการเร่งกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ การผลักดันการส่งออกในตลาดใหม่ๆ และที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน เพราะเวลานี้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) และสินค้าที่ผลิตเริ่มเป็นสินค้าที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ลดโลกร้อน

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

ดร.จุฬา สุขมานพ

เลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

3. 'Mini EEC Fair 2024' ดึงเงินลงทุนกลุ่มอุตฯยุทธศาสตร์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2567)

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ สกพอ. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จัดงาน Mini EEC Fair 2024 ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2567 ชูแนวคิด "EEC Opportunities: Investment Solutions Towards Sustainable Locals" ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์แห่งอนาคตเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ณ โรงแรมเดอะซายน์ พัทยา จังหวัดชลบุรี มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2,500 คน จากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง Mini EEC Fair 2024 เป็นเวทีสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของพื้นที่ EEC ในการรองรับการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายสนับสนุน และการให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่จูงใจ มั่นใจว่างานนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนครั้งใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ พื้นที่ EEC ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักลงทุน ปัจจุบันการดึงการลงทุนจึงต้องวางแผนและรับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะการลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งพื้นที่ EEC มีความพร้อมทั้งสิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่ ข้อกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิติกส์ สาธารณูปโภค และสภาพแวดล้อม ที่จะสามารถดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการใช้อุตสาหกรรมไมซ์ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ ในพื้นที่ EEC ทั้งใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมและ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ การผลักดันอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with red and white stripes

Description automatically generated

 

4. แบงก์ชาตินิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75% ตามคาด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2567)

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 4.75% ในวันนี้ (9 ตุลาคม 2567) และระบุว่า ธนาคารประเมินว่า เงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภครายปีจะอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ระดับ 1%-3% ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ 17 คนจาก 28 คน ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า RBNZ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นพ้องกันว่า เป็นการเหมาะสมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ระดับต่ำและคงที่ ขณะที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่มากเกินไปในด้านการผลิต การจ้างงาน อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันที่ RBNZ มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง    

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)